“วิกฤตเมียนมา” ฉุดส่งออก “CMLV-อาเซียน” ทรุด!
สถานการณ์เมียนมา ฉุดส่งออก CMLV หด 4.2% ผสมโรงสิงคโปร์ที่ลดลงต่อเนื่องกว่า 20% ทำภาพรวมส่งออกอาเซียนทรุดต่อเนื่อง -11.8% สวนทางตลาดใหญ่ อย่าง สหรัฐฯ ออสเตเลีย จีน และเอเชียใต้ ที่พุ่งสูงขึ้นระดับ “2 หลัก” ทุกตลาด ด้านรองโฆษก สศค. ยัน! สัญญาณเศรษฐกิจไทยช่วง ก.พ.64 ดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ยังหวังปัจจัยหลัก “ส่งออก-ท่องเที่ยว-การลงทุน-การบริโภคในไทย” หนุนเศรษฐกิจ พร้อมปรับใหญ่จีดีพีและตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ เม.ย.นี้
นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และ นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผอ.สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. แถลงรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยยอมรับว่าการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนที่ลดลงร้อยละ 11.8 ส่วนหนึ่งเพราะการส่งออกในกลุ่มประเทศ CMLV (กัมพูชา เมียนมา ลาว และเวียดนาม) ลดลงถึงร้อยละ 4.2 ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาการเมืองในเมียนมา ทำให้สินค้าที่เคยส่งไปขาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันสำเร็จรูปที่มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 12 สินค้าอุปโภคและบริโภค รวมถึงเครื่องดื่มที่มีกว่าร้อยละ 9 ต่างได้รับผลกระทบไปหมด
ทั้งนี้ หากดูในรายละเอียดจะพบว่าการส่งออกไปเมียนมาในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ติดลบมากถึงร้อยละ 29.5 เช่นเดียวกับกัมพูชาที่ติดลบร้อยละ 10.6 และติดลบมาอย่างต่อเนื่อง จะมีก็แต่เวียดนามและลาวที่การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 และ 8.5 ตามลำดับ กระนั้น การส่งออกไปยังเมียนมา ก็ฉุดภาพรวมการส่งออกของตลาดอาเซียน ที่เคยเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยมาก่อน
อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ในเมียนมากลับสู่ภาวะปกติ เชื่อว่ายอดส่งออกน่าจะเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกัน สิงคโปร์เป็นอีกประเทศที่สัดส่วนการส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่องในระดับ ลบร้อยละ 20 มาเป็นเวลานาน มีผลต่อภาพรวมการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนของไทย ต่างไปจากการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย จีน และเอเชียใต้ ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.7, 18.3, 15.7, และ 13.9 ตามลำดับ
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ถือว่า มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกที่ไม่รวมทองคำ นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นที่สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ภายในประเทศที่มีแนวโน้มคลี่คลายลง การฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมาตรการของภาครัฐที่มีส่วนสำคัญในการพยุงกำลังซื้อของผู้บริโภค
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 85.1 จากระดับ 83.5 ในเดือนมกราคม 2564 โดยได้รับมีปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมและป้องกัน COVID-19 ของภาครัฐ ส่งผลให้การดำเนินกิจการและกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงมาตรการสนับสนุนกำลังซื้อของภาครัฐ อาทิ โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ และการเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า สำหรับบริการด้านการท่องเที่ยว พบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa: STV) รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) และนักธุรกิจ 5,741 คน จากประมาณตัวเลขทั้งปีที่ 5 ล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯ เยอรมนี สหราชอาณาจักร และจีน เป็นต้น ขณะที่ภาคเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ -1.4 ต่อปี จากการลดลงของผลผลิตข้าวเปลือก และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น
รองโฆษก สศค. ระบุด้วยว่า เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ –1.2 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.04 ต่อปี ขณะที่ สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2564 อยู่ที่ร้อยละ 52.0 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อยู่ในระดับสูงที่ 253.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
“ประมาณตัวเลขเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจีดีพี รวมถึงคาดการณ์รายได้จากการท่องเที่ยวและอื่นๆ ทางกระทรวงการคลัง โดยสศค.จะประเมินอีกครั้งในการแถลงข่าวเดือนเมษายน เนื่องจากขอรอดูแนวโน้มและทิศทางการท่องเที่ยวและการใช้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ก่อน” นายวฺฒิพงษ์ ย้ำและว่า การส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐและเอกชน รวมถึงการบริโภคภายในประเทศ ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
ด้าน นายพิสิทธิ์ แถลงรายงาน ภาวะเศรษฐกิจการคลังภูมิภาคประจำเดือนกุมภาพันธ์ ว่า เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะจากด้านการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการของภาครัฐ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายลง
ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (RSI) เดือนมีนาคม 2564 พบว่า มีแนวโน้มความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าในทุกภูมิภาค เนื่องจากคาดการณ์ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่มีแนวโน้มคลี่คลายลง เช่นกัน.