เริ่ม 1 ก.ค. ภูเก็ตเปิดรับนักท่องเที่ยว ไม่ต้องกักตัว
ศบศ.เห็นชอบหลัการ ภูเก็ตนำร่องเปิดรับนักท่องเที่ยว ไม่ต้องกักตัว เริ่ม 1 ก.ค.
เมื่อวันที่ 26 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) หรือ ศบศ.
นายยุทธศักดิ์ สุภสร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินำร่อง จ.ภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. เป็นต้นไป โดยเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ไม่ต้องกักตัว ตั้งเป้ามีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าประมาณ 1 แสนคน โดย จ.ภูเก็ต มีความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยว และหลังจากนี้ทาง จ.ภูเก็ตและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จะต้องจัดทำแผนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวร่วมกันต่อไป
ก่อนเริ่มนำร่อง จ.ภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้ เป็นต้นไป จะมีการลดเวลากักตัวเหลือ 7 วัน ในพื้นที่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา สมุย พัทยา เชียงใหม่ สำหรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีกวัคซีนแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องกักตัวในห้อง แต่ให้อยู่ในบริเวณโรงแรม และพื้นที่ที่กำหนด
จากนั้นตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป พื้นที่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา สมุย พัทยา เชียงใหม่ จะเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบไม่ต้องกักตัวสำหรับผู้ที่ได้รับการฉีกวัคซีน แต่ต้องมีมาตรการควบคู่กัน ไม่ว่าจะเป็น แอปพลิเคชั่น หลักฐานการรับวัคซีน ผลตรวจโควิดที่เป็นลบ และตรวจโควิดเมื่อเข้ามาในพื้นที่
นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า จากผลสำรวจพบว่าประเทศไทย ยังเป็นจุดหมายปลายทางอันดับ 1 ในทุกตลาด ไม่ว่าจะเป็น ตลาดระยะไกล เช่น เยอรมัน ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย อังกฤษ รัสเซีย สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิสราเอล ส่วนตลาดระยะใกล้ เช่น จีน อินเดีย ฮ่องกง เกาหลีใต้ มีปลายทางอยู่ที่กรุงเทพ ภูเก็ต เกาะสมัย พัทยา เชียงใหม่ กระบี่ หัวหิน ฯลฯ โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่สนใจเดินทางเข้าประเทศไทยเพื่อพักผ่อน จะเลือกพื้นที่ที่มีการฉีกวัคซีนแล้ว และไม่ต้องกักตัว
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ในที่ประชุม ศบศ. พล.อ.ประยุทธ์ ได้ตั้งเป้าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2564 ไว้ที่ 4 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่สภาพัฒน์ ตั้งเป้าไว้ 3 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น จึงต้องเร่งการส่งออก การลงทุนภาคเอกชน การบริโภค การท่องเที่ยว การขยายตลาดใหม่ๆ ฯลฯ
นายดนุชา กล่าวว่า สำหรับการปรับแนวทางการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจดึงดูดการลงทุน โดยก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งทีมปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อเชิญชวนบริษัทใหญ่ๆในต่างประเทศเข้ามาลงทุน
โดยอุตสาหกรรมหลักที่จะเชิญชวนเข้ามาลงทุนต่อจากนี้ ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวและการดูแลเพื่อสุขภาพ ดิจิทัล โดยที่ประชุม ศบศ.ได้มอบหมายให้ทีมปฏิบัติการเชิงรุกฯ หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ เพื่อลดข้อจำกัด แล้วให้นำเสนอ ศบศ.ภายใน 1 เดือน