บอร์ดดีอี อนุมัติ 500 ล้าน ขับเคลื่อนโครงการนำร่อง 5จี
นายกรัฐมนตรี เร่งเดินหน้าพัฒนาประเทศ สู่การเป็นดิจิทัลไทยแลนด์และดิจิทัลอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ บอร์ดดีอีอนุมัติงบ 500 ล้านบาท ขับเคลื่อนโครงการนำร่อง 5จี
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 14 มี.ค. ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ครั้งที่ 1/2564 โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม รักษาราชการแทน รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เข้าร่วมประชุมด้วย
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศ ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเสริมสร้างความเข้มแข็ง แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้การวางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลมีความคืบหน้าอย่างมากเพื่อใช้ประโยชน์และขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G ของประเทศไทย เช่น โครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วถึงทั้งประเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ (เน็ตประชารัฐ) รวมทั้งการเตรียมพร้อมเรื่องของปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ต่าง ๆ การนำเทคโนโลยีด้านนวัตกรรมมาใช้ในการดำเนินงานของทุกภาคส่วน นำไปสู่การเป็นดิจิทัลไทยแลนด์และดิจิทัลอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนให้บรรลุผลตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ
นายกรัฐมนตรียังเน้นย้ำทุกส่วนราชการผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน การใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่หรือคลาวด์กลางภาครัฐ เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ นำไปสู่การพัฒนาประเทศในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง รวมทั้งบริการประชาชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทุกระดับ ทุกช่วงวัย ทุกสาขาอาชีพ ส่งเสริมประชาชนใช้ดิจิทัลให้เกิดประโยชน์เพื่อเดินหน้าไปสู่รัฐบาลดิจิทัล หรือ e-Government โดยการใช้จ่ายงบประมาณต้องไปเป็นอย่างเหมาะสม คุ้มค่า โปรงใส่ เกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนโดยรวมอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมสำหรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G ของประเทศไทย เพื่อการต่อยอดการใช้ประโยชน์ ตามมาตรา 26 (6) วงเงินงบประมาณ 500 ล้านบาท
พร้อมเห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตามมาตรา 26 (6) แห่ง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 สำหรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G ของประเทศไทย โดยโครงการที่เข้าเกณฑ์ได้รับการพิจารณาสนับสนุน ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขหลัก ได้แก่ เป็นโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ เป็นโครงการนำร่องที่มีความสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ของประเทศไทย ระยะที่ 1 โดยเป็นโครงการที่มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนต่อยุคดิจิทัล หรือจะส่งผลกระทบในวงกว้าง และโครงการที่ขอรับการสนับสนุน ต้องมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี)
ในส่วนของความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ที่มีรายงานจัดอันดับช่วงต้นปีนี้โดย Ookla Speedtest ผู้ให้บริการทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตระดับโลก ระบุว่า อินเทอร์เน็ตบ้าน (Fixed Broadband) ของไทย มีความเร็วเฉลี่ยในการดาวน์โหลดสูงถึง 308.35 เมกะบิท/วินาที (Mbps) ขึ้นแท่นอันดับ 1 ของโลก
นายกรัฐมนรี กล่าวย้ำว่า เทคโนโลยี 5G พลิกโฉมการใช้ประโยชน์ในมิติทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โทรคมนาคม ระบบสาธารณูปโภค ภาคการขนส่ง ภาคการเกษตร ด้านสาธารณสุข เนื่องจาก อย่างก้าวกระโดดช่วยยกระดับด้านเศรษฐกิจและสังคม ของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป