กรมศุลฯแถลงโต้ “ติ่ง’หลี” สยบดราม่าออนไลน์
กรมศุลฯจนปัญญาแจงโลกโซเชียล หลังโดนป้ายสี “ซ่องโจร” เชิญด่วน! สื่อร่วมแถลงข่าว ด้าน “พชร อนันตศิลป์” ยอมรับ “2 ขุนคลัง” จี้! เร่งทำความเข้าใจในทุกขั้นตอนตรวจสอบสินค้าผ่านไปรณีย์ไทย หวังลดความเหลื่อมล้ำกับผู้ประกอบการไทยที่มีสินค้าคล้ายกัน ย้ำ! ไม่ฟ้องร้องดำเนินคดีกลุ่มคนให้ร้าย เผย! แก๊งทวิตเตอร์ สำแดงเท็จ แจ้งประเภทและราคาสินค้า “กลุ่มบั้ม” คลาดเคลื่อนเยอะ! แถมตรวจสอบต้นทางพบมีที่อยู่และอีเมล์เดียวกัน พร้อมเปิด HOT LINE สายด่วนตรงถึงอธิบดีฯ
สมควร “หัวร้อน” อยู่หรอก! กับข้อหาฉกรรจ์ “ซ่องโจร” หลังจาก….โลกออนไลน์ ขยายผล แฮชแทก #ศุลกากรหรือซ่องโจร ในทวีตเตอร์ ตลอด 2-3 วันที่ผ่านมา จนกลายเป็น…ประเด็นดราม่าจากโลกออนไลน์ ข้ามกรมศุลกากรไปไกลถึงกระทรวงการคลัง ยันทำเนียบรัฐบาล!!!
นั่นจึงทำให้ นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร และคณะผู้บริหารฯ ต้องชิงเปิดแถลงข่าว ณ จุดเกิดเหตุ บริเวณที่ทำการ ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์ (ศูนย์ไปรษณีย์ด่วนพิเศษกรุงเทพฯ) ย่าน ถ.แจ้งวัฒนะ ทันทีที่เปิดทำการในสัปดาห์นี้
เขายอมรับว่า…ทั้ง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง สั่งกำชับให้ต้องเร่งชี้แจงข้อเท็จจริงต่อปัญหาดังกล่าว เพื่อให้สังคมรับรู้ถึงขั้นตอนและกระบวนการปฏิบัติงานพิธีการศุลกากรทางไปรษณีย์ พร้อมกับอธิบายถึงเส้นทางการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรและไปรษณีย์ไทย กล่าวคือ…เมื่อมีสิ่งของที่ส่งมาจากต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะคัดแยกออกเป็น 3 ประเภท
ประเภทที่ 1 ของยกเว้นอากร มีราคาไม่เกิน 1,500 บาท, ประเภทที่ 2 มีราคา 1,500 – 40,000 บาท และไม่เป็นข้องต้องห้าม จะต้องชำระอากรตามที่กฎหมายกำหนด และประเภทที่ 3 มีราคามากกว่า 40,000 บาทขึ้นไป โดยเกือบทั้งหมดจะใช้บริการของบริษัทรับส่งพัสดุภัณฑ์ข้ามชาติระดับโลก ซึ่งจะต้องแจ้งรายละเอียดของสินค้า ราคา รวมถึงทำประกันภัยสินค้า ทั้งหมดจะถูกเก็บรักษาในโรงพักสินค้าของไปรษณีย์ไทย หรือส่งไปที่สำนักงานหรือด่านศุลกากร เพื่อปฏิบัติพิธีการศุลกากร
สำหรับการปฏิบัติกับสิ่งของที่คัดแยก หากเป็น ประเภทที่ 1 ทางไปรษณีย์ไทยจะนำส่งที่บ้านของผู้รับ ถ้าเป็น ประเภทที่ 2 (ราคา 1,500 – 40,000 บาท) จะต้องเปิดตรวจและประเมินค่าภาษีอากรต่อหน้าเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ไทยทุกครั้ง และเมื่อเปิดตรวจเสร็จสิ้นแล้ว จะดำเนินการปิดหีบห่อพัสดุ ด้วยการคาดเทปกาวพลาสติกที่มีข้อความทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ “เปิดตรวจ/ปิดผนึก โดยพนักงานศุลกากร ร่วมกับเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ EXAMINED/SEALED BY CUSTOMS AND POSTAL OFFICERS”
ทั้งนี้ กรมศุลกากรจะประเมินค่าภาษีอากรตามแนวของการประเมินราคาศุลกากรภายใต้ความตกลงแกตต์ขององค์การการค้าโลก โดยใช้ราคาซื้อขายได้จริงที่รวมค่าขนส่งและค่าประกันภัย (CIF) เป็นฐานในการประเมินค่าภาษีอากรโดยเบื้องต้นจะพิจารณาราคาจากเอกสารรายละเอียดของสินค้าและราคา (Invoice หรือ CP72:CUSTOMS DECLARATION) ที่แนบมากับหีบห่อ เว้นแต่มีข้อสงสัยว่าราคาที่ปรากฏนั้นไม่น่าจะใช่ราคาซื้อขายแท้จริง
กรณีที่ไปรษณีย์ฯแจ้งให้ไปรับพัสดุไปรษณีย์และชำระค่าภาษีอากร ณ ที่ทำการไปรษณีย์ หากไม่เห็นด้วยกับการประเมินค่าภาษีอากร สามารถยื่นคำร้องขอให้ประเมินภาษีใหม่ตามแบบฟอร์มที่กำหนดก่อนการชำระค่าภาษีอากร พร้อมเอกสารหลักฐานประกอบการโต้แย้ง ทั้งนี้ ให้แนบใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศกับ ไปรษณีย์ไทยโดยที่ยังไม่ต้องรับสิ่งของ เพื่อให้ที่ทำการไปรษณีย์ ส่งพัสดุไปรษณีย์ดังกล่าวกลับไปยังหน่วยงานศุลกากรพิจารณาทบทวนความถูกต้องของการประเมินค่าภาษีอากรต่อไป
สำหรับประเภทที่ 3 ของจะถูกเก็บรักษาในโรงพักสินค้าของไปรษณีย์ไทย หรือส่งไปที่สำนักงาน หรือด่านศุลกากร เพื่อปฏิบัติพิธีการศุลกากร ผู้รับของต้องมาติดต่อที่ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์ หรือสำนักงานหรือด่านศุลกากร ตามที่ระบุไว้ในใบแจ้งฯ เพื่อตรวจสอบของพร้อมเจ้าหน้าที่ศุลกากร เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะประเมินอากรขาเข้าและภาษีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และหากพบว่าเป็นของต้องมีใบอนุญาตนำเข้า ผู้รับของต้องจัดเตรียมใบอนุญาตหรือได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อผู้รับของปฏิบัติครบถ้วนตามกฎหมายอื่นและชำระค่าภาษีอากร ผู้รับสามารถรับของไปจากอารักขาศุลกากร
“ประเด็นสำคัญที่กรมศุลกากรจะต้องสุ่มตรวจพัสดุนำเข้าจากต่างประเทศ ในสัดส่วน 3-5% ของปริมาณนำเข้าทั้งหมดราว 4.8 ล้านหีบห่อ ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดปัญหาความเหลื่อมล้ำให้กับผู้ประกอบการไทย ที่มีสินค้าในลักษณะใกล้เคียงกับที่นำเข้ามา โดยสินค้านำเข้ากลุ่มนี้ ไม่ต้องเสียภาษี ทั้งภาษีนำเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม แล้วยังต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอีก สร้างความได้เปรียบกับผู้ประกอบการไทย อีกส่วนที่สำคัญไม่ต่างกัน ก็คือ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบว่ามีขบวนการค้ายาเสพติด ลักลอบขนส่งยาเสพติดผ่านช่องทางพัสดุไปรษณีย์เข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมาก จำเป็นที่กรมศุลกากรจะต้องแก้ปัญหาอย่างเด็ดขาด” อธิบดีกรมศุลกากร ย้ำ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า…
เป็นไปได้ที่กลุ่มผู้นำเข้าสินค้าประเภทที่ 2 ซึ่งจะต้องเสียภาษีนำเข้าสินค้า และ/หรือ ขบวนการค้ายาเสพติด ร่วมผสมโรงทำลายขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่ รวมถึงความเชื่อมั่นของสังคมไทย เพื่อกดดันให้กรมศุลกากรลดความเข้มข้นในตรวจคัดกรองสินค้า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่สำแดงเท็จ แจ้งราคาต่ำกว่าความเป็นจริง หรือเป็นสินค้าต้องห้าม รวมถึงยาเสพติด เพื่อที่พวกเขาจะอาศัยประโยชน์จากสถานการณ์นี้
ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่า…เจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรฉกฉวยสิ่งของจากกล่องพัสดุ, มีการประเมินภาระภาษีแพงเกินจริง และมีการจัดเก็บภาษีกับของฝาก นั้น นายพชร ระบุว่า ไม่ใกล้เคียงกับความจริง ด้วยเหตุผลที่ได้ชี้แจงมาก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ กรมศุลกากรยืนยันจะเก็บภาษีในกลุ่มของขวัญของฝาก, ของใหญ่ที่มีมูลค่าสูง และสินค้าที่มีการซื้อขายจริง ตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป ทั้งนี้ ตนจะตั้ง HOT LINE สายด่วน! รับเรื่องร้องเรียนเป็นการเฉพาะ แต่ผู้ร้องเรียนจะต้องแสดงตัวตนแท้จริงและนำเสนอข้อเท็จจริง โดยจะไม่รับเรื่องร้องเรียนที่เป็นบัตรสนเท่ห์อย่างเด็ดขาด ขณะเดียวกัน ก็จะตั้งคณะทำงาน “ทีมเซอร์ไพร้ส์เช็ค” เพื่อเกาะติดขบวนการนำเข้าสินค้าผ่านช่องทางพัสดุภัณฑ์โดยผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ภายหลังได้ทำการแถลงข่าวและชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว นายพชร คาดหวังว่า สังคมไทยจะเข้าใจหลักการทำงานของกรมศุลกากร รวมถึงเหตุผลและเป้าหมายแท้จริงมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาการสำแดงเท็จและแจ้งราคาต่ำ ทั้งนี้ ระหว่างการพาสื่อมวลชนดูการปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ดังกล่าว พบว่าในการสุ่มตรวจฯเจอการสำแดงเท็จ และแจ้งราคาที่ต่ำกว่าความจริง
โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มของสะสมหรือของที่ระลึกของศิลปินดารานักร้องต่างประเทศ (“บั้ม”) เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากนี้ จะส่งเอกสารแจ้ง “ใบเขียว” ให้มาเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 10% ของมูลค่าแท้จริง รวมกับภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% นอกจากนี้ การเอ็กซ์เรย์ตรวจสอบสินค้า ยังพบสินค้าประเภท “เซ็กส์ทอย” ซึ่งอยู่ในกลุ่มของต้องห้าม คือ ห้ามนำเข้ามาในประเทศอีกด้วย
“กรมศุลกากรต้องการเพียงชี้แจงทำความเข้าใจกับสังคมไทย เพื่อยุติประเด็นดราม่าเหล่านี้โดยเร็ว และต้องการให้คนกลุ่มนี้ หยุดให้ร้ายกรมศุลกากร โดยเบื้องต้นจะไม่ดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง แต่จะให้มาชำระภาษีอย่างถูกต้อง ซึ่งพบว่ากลุ่มที่ให้ร้ายและกล่าวหากรมศุลกากรในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะทวีตเตอร์นั้น เป็นกลุ่มเดียวกับที่นำเข้าสินค้าในลักษณะสำแดงเท็จและแจ้งราคาต่ำกว่าความจริง ส่วนใหญ่เป็นสินค้าใน กลุ่ม “บั้ม” เป็นส่วนใหญ่” อธิบดีกรมศุลกากร ย้ำ
อนึ่ง สถิติการนำเข้าสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ในปีงบประมาณ 2562 มีทั้งหมด 5,989,619 หีบห่อ ในปีงบประมาณ 2563 มีทั้งหมด 4,817,355 หีบห่อ ด้านสถิติการจับกุมตรวจยึดสิ่งของผิดกฎหมาย ของส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์ สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ ปีงบประมาณ 2563 มีดังนี้ ยาเสพติด 214 ราย น้ำหนัก 978.92 กิโลกรัม มูลค่า 404,770,100 บาท, วัตถุลามก 356 ราย น้ำหนัก 1,077.87 กิโลกรัม มูลค่า 1,796,000 บาท, บุหรี่ไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์ 391 ราย น้ำหนัก 451.15 กิโลกรัม มูลค่า 257,300 บาท.