ธ.ก.ส.รับลูก “เงินกู้ปลูกกัญชา” ชี้! กินทุเรียนแพงแน่
ผจก.ธ.ก.ส.คนใหม่ “ธนารัตน์ งามวลัยรัตน์” ปรับแผนปล่อยสินเชื่อ “กัญชง-กัญชา” รับกระแสความต้องการของเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน ฟันธง! ปีนี้คนไทย “จ่ายแพง” ซื้อทุเรียน เหตุ “ล้งจีน” กว้านซื้อตรงจากสวน ย้ำ! แผนงานปี’64 เน้นดูแลลูกหนี้ เติมทุนอย่างมีคุณภาพ ตั้งเป้าปล่อยกู้ทั้งปี 6.9 หมื่นล้านบาท กดเงินฝากแค่ 2.5 หมื่นล้านบาท หันเน้นสร้าง “สร้างตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม” ให้เกษตรกรและชุมชนไทย พ่วงดึงเทคโนโลยีมาปรับใช้ในแผนงานปีนี้
การเปิดตัว “ผู้จัดการคนใหม่” ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ล้อไปกับ งานแถลงข่าวผลการดำเนินงานในปี 2563 แนะนำคณะผู้บริหารที่เดินทางมาร่วมงาน รวมถึงแผนงานและเป้าหมายในปี 2564 (1 เมษายน 2564 – 31 มีนาคม 2565) ที่คาบาน่า รีสอร์ท อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 20 มีนาคม 2564 มีหลายประเด็นที่ท้าทาย นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ และทีมผู้บริหาร ธ.ก.ส.ชุดนี้
หนึ่งในความสนใจของสื่อมวลชน พุ่งเป้าไปที่นโยบายและแผนการให้สินเชื่อแก่เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนที่ประสงค์จะปลูกกัญชาและกัญชง “พืชเศรษฐตัวใหม่” ซึ่งรัฐบาลและหลายหน่วยงานของรัฐต่างให้การส่งเสริมและสนับสนุนเชิงรุก ด้วยหวังจะใช้เป็นทางเลือกในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรกลุ่มนี้
ที่สุดแล้ว…ธ.ส.ก. ภายใต้การนำของ นายธนารัตน์ “ผู้จัดการคนใหม่” จะมีทิศทางเป็นอย่างไร?
และคำตอบที่อาจกลายเป็น “จิ๊กซอว์ตัวสำคัญ” ของเรื่องนี้ คือ การที่ ธ.ก.ส. พร้อมจัดสินเชื่อสำหรับการปลูกกัญชาและกัญชง ถ้ากฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกฎระเบียบและเงื่อนไขต่างๆ มีความชัดเจน
“หากกฎหมาย ระเบียบ และเงื่อนไขของภาครัฐมีความชัดเจน การปลูกกัญชาและกัญชง ก็ไม่ต่างจากพืชเกษตรทั่วไป ซึ่ง ธ.ก.ส.พร้อมจะให้สินเชื่อเพื่อการเพาะปลูก เพียงแต่ตอนนี้ ยังต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน” นายธนารัตน์ ระบุและว่า…
แม้ ธ.ก.ส.จะยังไม่จัดเตรียมวงเงินสินเชื่อก้อนนี้ แต่พร้อมจะปรับแผนงานรองรับสินเชื่อตัวนี้ ทันทีที่มีความชัดเจนจากภาครัฐ เพราะเห็นตรงกับกระแสสังคมไทยที่ว่า…พืชกัญชาและกัญชง จะกลายเป็นสินค้าเกษตรตัวใหม่ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและปลุกความหวังให้กับเศรษฐกิจไทยในอนาคตอันใกล้
อีกประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสื่อมวลชน สะท้อนไปยังสังคมไทย นั่นคือ สถานการณ์ราคาพืชเกษตรนับจากนี้ ตัวไหนจะเป็นดาวรุ่ง…ดาวร่วง?
ณ ช่วงเวลานี้ สินค้าเกษตรที่โลกและสังคมไทยจับจ้อง คงไม่พ้น “ทุเรียน” ราชาผลไม้ของไทย ปมนี้ “ผู้จัดการ ธ.ก.ส.คนใหม่” ฟันธง! เป็นอีกปีที่คนไทยจะต้อง “จ่ายแพง” หากต้องการกินทุเรียนในรอบนี้…
3 กลุ่มที่ ธ.ก.ส.ประเมินไว้ คือ…กลุ่มส่งออกทุเรียน กินส่วนแบ่งมากสุด! เกือบกึ่งหนึ่งของผลผลิตในแต่ละปี ตลาดส่งออกส่วนใหญ่ “โฟกัส” ไปที่ประเทศจีน กำหนดราคาขายไว้ที่ 120-150 บาท/ก.ก.
ขณะที่…กลุ่มพรีเมียม ซึ่งมี “สตอรี่” เป็นอัตลักษณ์เฉพาะ ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็น…ทุเรียนป่าละอู จ.ประจวบคีรีขันธ์, ทุเรียนภูเขาไฟ จ.ศรีษะเกส และทุเรียนพรีเมียมอื่นๆ ที่มีส่วนแบ่งตลาดไม่ถึง 10% สนนราคาอยู่ระหว่าง 150-170 บาท/ก.ก.เป็นอย่างต่ำ ซึ่งหากใครต้องการจะกินทุเรียนกลุ่มนี้…ต้องเตรียมใจและทำใจ พร้อม “ควักจ่าย” เพื่อให้ได้กินทุเรียนคุณภาพกลุ่มนี้
กลุ่มสุดท้าย ที่เหลือราว 40% คือ ทุเรียนที่วางขายในประเทศ ซึ่ง ธ.ก.ส.เชื่อว่า ราคาจะวิ่งอยู่ระหว่าง 120-130 บาท/ก.ก. ด้วยเหตุที่ “ล้ง” (พ่อค้าคนกลาง) จากจีน เข้ามากว้านซื้อล่วงหน้าในแบบ “ตกเขียว” กับเจ้าของสวนทุเรียนไปก่อนแล้ว ทุเรียนที่เหลือขายในประเทศ จึงมีราคาสูง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย…ทำลาย “อำนาจการซื้อ” ของคนไทยให้ต่ำลง!
นั่นคือเหตุผลที่ว่า…ทำไมคนไทยต้อง “จ่ายแพง” กับการกินทุเรียนในปีนี้
สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2563 นายธนารัตน์ ระบุว่า ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ และชีวิตคนไทยนั้น ในส่วนของ ธ.ก.ส. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้า ตั้งแต่ การพักหนี้ทั้งระบบ 3.25 ล้านราย, ต้นเงินประมาณ 1.07 ล้านล้านบาท, การเติมวงเงินสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และเสริมสภาพคล่อง บรรเทาความเดือดร้อน กระตุ้นการใช้จ่าย การลงทุน เพื่อทำให้ระบบเศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียน เช่น เงินกู้ฉุกเฉิน ที่ไม่ต้องใช้หลักประกันวงเงิน 20,000 ล้านบาท สินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิด สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ สินเชื่อเพื่อฤดูการผลิตใหม่ วงเงินรวม 170,000 ล้านบาท
รวมถึงจัดทำโครงการชำระดีมีคืนและโครงการลดภาระ ซึ่งทั้ง 2 โครงการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องดอกเบี้ย โดยสามารถคืนเงินเข้าสู่กระเป๋าเกษตรกร กว่า 1.6 ล้านราย วงเงินกว่า 3,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการส่งมอบเงินและความช่วยเหลือไปยังเกษตรกรและผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เช่น การจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร 5,000 บาทเป็นระยะเวลา 3 เดือน ผู้พิทักษ์สิทธิ์ เราไม่ทิ้งกัน การจ่ายเงินตามโครงการประกันรายได้ 5 พืชเศรษฐกิจหลัก เป็นต้น
จากสถานการณ์ข้างต้น ส่งต่อผลการดำเนินงานในปี 2563 ของ ธ.ก.ส. ที่คาดการณ์ว่า ณ สิ้นปี 2563 (31 มีนาคม 2564) จะมีสินทรัพย์ 2,039,144 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.10%, สินเชื่อ 1,572,376 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.90%, หนี้สิน 1,892,612 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.94%, เงินรับฝาก 1,730,272 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.41%, ส่วนของเจ้าของ 146,532 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.19% โดยมีรายได้ 03,171 ล้านบาท, ค่าใช้จ่าย 95,987 ล้านบาท, กำไรสุทธิ 7,184 ล้านบาท, อัตราส่วน ROA 0.36%, NIM 3.09%, Cost to income 32.25 BIS ratio 11.99 และ NPLs/Loan ratio 3.57 ทั้งนี้ ในปีบัญชี 2564 กำหนดเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อเติบโตเพิ่มขึ้น 69,000 ล้านบาท และเงินฝากเติบโตเพิ่มขึ้น 25,000 ล้านบาท
นายธนารัตน์ ยังย้ำอีกว่า อีกภารกิจสำคัญในปี 2564 คือ พุ่งเป้าสู่ความเป็น “ธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน มุ่งสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชนบท” โดยปรับวิธีหรือกระบวนการทำงาน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการดูแลเกษตรกรลูกค้าให้สามารถยืนอยู่ได้ อย่างมั่นคง ยั่งยืน ผ่านมาตรการสนับสนุนด้านสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ (New Gen /Smart Farmer / Entrepreneur) ที่มีทักษะความรู้ ความสามารถด้านเทคโนโลยี การบริหารจัดการด้านการตลาด ให้เข้ามาต่อยอดในการเพิ่มมูลค่าผลผลิต และสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน
ขณะเดียวกันต้องเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรที่มีภาระหนักด้านหนี้สิน โดยกำหนดให้พนักงานสาขาเข้าไปพบลูกค้าทุกรายเพื่อตรวจสุขภาพหนี้และประเมินศักยภาพ หากพบว่าลูกค้ายังมีศักยภาพ จะแนะนำให้ชำระหนี้ให้เสร็จสิ้น หรือชำระหนี้ให้สอดคล้องกับที่มาของรายได้ กรณีลูกค้าไม่มีศักยภาพ จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูอาชีพให้กับลูกค้า เพื่อสร้างที่มาแห่งรายได้หรือเพิ่มเติมทุนใหม่ต่อไป
โดยเฉพาะ นโยบาย “สร้างตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม” (Social Safety Net) ที่จะดูแลและสร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกรและชุมชนมีให้ความเข้มแข็งและเติบโตอย่างมีคุณภาพ ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ การวิจัยและนวัตกรรม การตลาด การดูแลด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการดำเนินงานของธนาคาร (Digital Workplace) รวมถึงนำ Fin Tech มาใช้ผ่าน Digital Banking เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ทันสมัย รวดเร็ว สะดวกสบาย ช่วยลดต้นทุนและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า
และที่สำคัญคือการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะและความสามารถตรงกับงานที่รับผิดชอบ โดยปรับปรุงกระบวนการทำงาน เพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการและให้บริการ พร้อมทั้งลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน
“ตลอดระยะเวลา 55 ปี ธ.ก.ส. ยังคงมุ่งมั่นสร้าง Better Life คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในชนบท Better Community ชุมชนที่ดีและเข้มแข็งขึ้น และ Better Pride สร้างความภาคภูมิใจในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมให้มากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างรากฐานที่เข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ” ผู้จัดการ ธ.ก.ส.คนใหม่ ย้ำ.