สรรพากรผุด NDID Platform สกัดโกงธุรกรรมออนไลน์
กรมสรรพากร ผนึกแบงก์ชาติ แบงก์พาณิชย์ และ เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี พัฒนาการยืนยันตัวตนทางดิจิทัลผ่าน NDID Platform เพื่ออำนวยความสะดวก และเพิ่มความปลอดภัย ป้องกันแอบอ้างทำธุรกรรมออนไลน์ นำร่องกับการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และตรวจสอบค่าลดหย่อนเริ่มแล้ว 18 มี.ค.นี้
นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะ โฆษกกรมสรรพากร กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างกรมสรรพากร กับธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ และบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จํากัด ว่า ได้พัฒนาการยืนยันตัวตนทางดิจิทัลผ่าน NDID Platform เป็นอีกทางเลือก ในการยืนยันตัวตน เพื่อเข้าทำธุรกรรมออนไลน์ของกรมสรรพากร โดยเริ่มใช้กับบริการยื่นแบบฯ ชำระภาษีออนไลน์ (e – Filing) และตรวจสอบรายการค่าลดหย่อนภาษี (My Tax Account) เพื่อยกระดับกระบวนการทำธุรกรรม ทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มีมาตรฐานและมีความน่าเชื่อถือ สร้างความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้บริการ
โดยมีธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนผ่านโมบายแอปพลิเคชันของธนาคาร สร้างความมั่นใจว่าผู้ใช้บริการธุรกรรมออนไลน์บนเว็บไซต์กรมสรรพากรเป็นบุคคลนั้นๆ จริง มีการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล เมื่อผู้ใช้บริการซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลให้ความยินยอม (Consent) และผู้ใช้บริการสามารถต่อยอดการยืนยันตัวตน ไปถึงการใช้บริการอื่นๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคต
ปัจจุบันมีธนาคารที่ร่วมให้บริการทั้งหมด 8 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ธนาคารทหารไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สำหรับวิธีการสมัครใช้บริการ NDID และเงื่อนไขในการสมัครเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป
“กรมสรรพากรมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบ การให้บริการด้านภาษี เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการและผู้เสียภาษีสามารถทำธุรกรรมภาษี ได้ง่าย ลดต้นทุน และให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลและการใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์ ของกรมสรรพากร ทั้งนี้ กรมสรรพากรยังคงมุ่งทำให้บริการอิเล็กทรอนิกส์มีความง่ายตามความต้องการใช้งานของผู้ประกอบการ ผู้เสียภาษี และมีมาตรฐานระดับสากล” โฆษกกรมสรรพากร ระบุ
สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161 หรือที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ.