“จับกัง 1” ชี้! ปล่อยผี 3 ชาติแรงงานเถื่อน ปั้นถูกกม.
“สุชาติ ชมกลิ่น” แจงเหตุ! ไฟเขียวกรณีพิเศษ ยกแรงงานต่างด้าวเถื่อน “เมียนมา – ลาว – กัมพูชา” เป็นแรงงานถูกกฎหมายสู้พิษโควิด-19 เผย! ดันยอดทะลักกว่า 6.5 แสนคน หวังใช้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเต็มสูบ ย้ำ! หมดสัญญาจ้างงาน หากอยู่ต่อต้องทำ MOU สกัดปม “ค้าแรงงานมนุษย์”
นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวระหว่างเปิดการประชุมและสัมมนาของสมาคมการค้าพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการนำเข้าแรงงานต่างด้าว ณ ห้องประชุมมารีน่า เบย์ บอลรูม โรงแรมโนโวเทล มารีน่า ศรีราชา แอนด์ เกาะสีชัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2564 พร้อมบรรยายพิเศษ “การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวปี 2564 – 2565 สร้างความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ นายจ้าง ลูกจ้าง แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอย่างเต็มศักยภาพ” ตอนหนึ่งว่า…
“รัฐบาลและกระทรวงแรงงานมีความห่วงกังวลเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ทำงานอย่างถูกต้อง มีการหลบหนีเนื่องจากเกรงกลัวความผิด และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ผมจึงดำเนินการตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.63 เห็นชอบผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ” นายสุชาติระบุและว่า
ผลจากนโยบายดังกล่าว ทำให้มีแรงงานต่างด้าวยื่นลงทะเบียน ณ วันที่ 26 มกราคม เป็นจำนวนกว่า 654,864 คน เพื่อควบคุม ยับยั้ง ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด -19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว และให้แรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองหรือผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบการทำงานที่ถูกต้อง รวมทั้งทำให้เกิดความมั่นคงของระบบฐานข้อมูลแรงงานต่างด้าวที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย (Big Data) ว่ามีอยู่จำนวนเท่าใด ทำงานอยู่กับใคร ประเภทกิจการอะไร และอยู่ที่ไหนบ้าง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา รัฐบาลทราบถึงความต้องการของนายจ้าง และสถานประกอบการว่ามีความต้องการกำลังแรงงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองการดำเนินธุรกิจ รวมถึงเป็นกำลังขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ จึงกำหนดแนวทาแก้ไขปัญหาคนต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เพื่อเป็นแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย โดยผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและอนุญาตทำงาน โดยเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการอนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและอนุญาตทำงานแล้ว หากต้องการทำงานต่อ สามารถดำเนินการนำเข้าแรงงานในรูปแบบของการทำ MOU ระหว่างประเทศไทยกับประเทศคู่ภาคีเพื่อให้การคุ้มครองแรงงานเป็นไปตามกฎหมาย และเป็นการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน
“กระทรวงแรงงานขอขอบคุณทุกฝ่ายเกี่ยวข้อง ที่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐเป็นอย่างดีตลอดมา โดยขอความร่วมมือให้ความรู้และคำแนะนำแก่แรงงานต่างด้าว รวมถึงนายจ้าง ผู้ประกอบการ ทำให้แรงงานต่างด้าวมีหลักประกันทางด้านสุขภาพ และเข้าสู่ระบบประกันสังคมในกรณีที่ทำงานในกิจการที่เข้าข่ายประกันสังคม หรือการซื้อประกันสุขภาพในกรณีที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งการจัดประชุมสัมมนาในวันนี้เพื่อประสานความรู้ ความเข้าใจในด้านนโยบายของกระทรวงแรงงาน และรัฐบาล ตลอดจนจะได้ความรู้เรื่องกฎหมาย กฎระเบียบ รวมถึงมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างด้าวซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาที่ประกอบธุรกิจการให้บริการเกี่ยวกับการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวจะได้มีความรู้และมีแนวปฏิบัติแบบเดียวกันทั่วประเทศ และจะเป็นประโยชน์ ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง รวมถึงบริษัทนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทำให้นายจ้างสถานประกอบการสามารถขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาคต่างๆ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป” รมว.แรงงาน ระบุ
อนึ่ง การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มี นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผช.รมต.ประจำกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการ รมว.แรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสุชิน พึ่งประเสริฐ นายกสมาคมการค้าพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการนำเข้าแรงงานต่างด้าว ผู้รับใบอนุญาตนำเข้าคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทย นายจ้างและผู้ประกอบการเข้าร่วมงานฯด้วย.