EIC SCB เตือนส่งออกกลุ่มเสี่ยงภาษีสหรัฐฯ
ไทยพาณิชย์เตือนผู้ส่งออกสินค้ากลุ่มเสี่ยงโดนสหรัฐฯเพิ่มกำแพงภาษี เร่งปรับตัวรับมือการแข่งขันที่อาจรุนแรงและการทุ่มตลาดของยักษ์ใหญ่ หลังแนวโน้มสงครามการค้ายืดเยื้อ แม้พรรคต้นสังกัด ประธานาธิบดีทรัมป์ชนะเลือกตั้งกลางเทอมปลายปีนี้
เชื่อส่วนราชการไทยเร่งเครื่องจ่อเซ็นสัญญาเอฟทีเอกับชาติตะวันตกหลังมีรัฐบาลเลือกตั้ง สร้างตลาดส่งออกโซนใหม่ คาดจีดีพีปี 61 โต 4.3% ส่งออก 8.5% ขณะที่การลงทุนภาครัฐขยับสูงขึ้น 11% ขณะที่รายได้ครัวเรือนจากภาคเกษตรและนอกเกษตรโตสูง ส่วนเงินเฟ้อเพิ่มแค่ 1.5% มั่นใจทั้งปี กนง.ไม่เพิ่มดอกเบี้ยนโยบาย
นายยรรยง ไทยเจริญ รอง ผจก.ใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC SCB) กล่าวเตือนผู้ส่งออกไทยในกลุ่มสินค้าที่อาจได้รับผบกระทบจากกำแพงภาษี ภายหลังมีสัญญาณส่อจะเกิดปัญหาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น จีน สหภาพยุโรป ฯลฯ อาทิ สินค้าในกลุ่มเหล็ก อะลูมิเนียม เครื่องซักผ้าแผงโซลาร์ ยานยนต์และส่วนประกอบ ฯลฯ ว่า ควรต้องปรับกลยุทธ์ดำเนินงานรองรับภาวะการแข่งขันที่สูงและรุนแรงกว่าเดิม การทุ่มตลาดของบางประเทศ รวมถึงการมองหาตลาดส่งออกใหม่ๆ ซึ่งขณะนี้ภาครัฐก็เดินหน้านำสู่ทำสัญญาการค้าผ่านกรอบความร่วมมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อาเซป, เอฟทีเอ ฯลฯ โดยเฉพาะการทำเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป ที่ระหว่างนี้ เจ้าหน้าที่ไทยกำลังเร่งดำเนินการจัดทำร่างเอกสารสัญญา โดยรอเพียงมีรัฐบาลใหม่ภายหลังการเลือกตั้ง เชื่อว่าทุกอย่างจะคืบหน้า และเป็นโอกาสที่ดีแก่ภาคส่งออกของไทยกับตลาดใหม่ๆ ในอนาคต
“แม้พรรครีพับลิกันของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะชนะในการเลือกตั้งกลางเทอมช่วงปลายปีนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าสงครามการค้าจะยุติลง ยกเว้นจะมีแรงกดดันจากปัจจัยภายใน ทั้งจากปัญหาต้นทุนการผลิตสินค้าที่สูงขึ้น การส่งออกสินค้าที่ยากขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าภายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนให้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์พิจารณาปรับนโยบายที่เคยแข็งกร้าวลง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสุดท้าย เมื่อมีความพยายามเจรจาหาข้อยุติที่ทำให้สหรัฐฯได้ประโยชน์ในเชิงสัญลักษณ์ เช่น จีนและประเทศคู่ค้าอื่นๆ ยอมเพิ่มสัดส่วนการนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ หรือการลดการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ปัญหาสงครามการค้าก็อาจทุเลาลงได้บ้าง แต่จนถึงขณะนี้สถานการณ์ยังคงตรึงเครียด และหากไม่มีทีท่าว่าจะยุติหรือเจรจากันได้ ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและการส่งออกของไทยในปีหน้า”
นายยรรยง กล่าวอีกว่า แม้สถานการณ์สงครามการค้าจะยังหาข้อยุติไม่ได้ แต่เบื้องต้น EIC คาดว่าเป็นไปในระยะสั้นๆขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจโลกเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยดีขึ้น ทั้งนี้ EIC ได้ปรับเปลี่ยนประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น โดยปรับตัวเลขจีดีพีจากเดิมที่เคยคาดไว้เมื่อ 3 เดือนก่อนที่ 4.0% เป็น 4.3%การส่งออกจากเดิม 5% เป็น 8% การลงทุนภาครัฐจากปีก่อนที่ติดลบ 1.2% มาเป็นเติบโต 11% ในปีนี้ ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อคาดว่าจะมีเพียง 1.3% สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น เนื่องจากไม่มีสัญญาณลบใดๆ จึงคาดว่าคณะกรรมการนโยบานการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเยี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ตลอดทั้งปี
ส่วนที่หลายฝ่ายเป็นห่วงจะมีการเคลื่อนย้ายเงินระหว่างประเทศ ภายหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยไปก่อนหน้านี้ 2 ครั้ง และจะปรับเพิ่มอีก 2 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลังนั้น ถึงตอนนี้ทุกฝ่ายต่างรับรู้ข่าวสารและวางแผนรับมือไว้แล้ว เชื่อว่าค่าเงินบาทที่อ่อนค่าตามค่าเงินของภูมิภาคนี้ จะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ มากนัก เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังคงเข้มแข็ง ทุนสำรองระหว่างประเทศและสภาพคล่องในระบบก็มีอย่างเพียงพอ
” กำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่ปรับตัวดีขึ้นจากแนวโน้มรายได้ที่เริ่มฟื้นตัว แต่ยังมีอุปสรรคปัจจัยภาระหนี้สินที่สูงขึ้นก่อนหน้านี้ โดยรายได้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากภาคการเกษตรที่โตขึ้นในไตรมาส 2 และค่าจ้างเฉลี่ยนอกภาคการเกษตรที่เติบโตอย่างต่อเนื่องนับแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทั้งจากการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม ค้าส่งค้าปลีกโรงแรมและร้านอาหาร รวมถึงอัตราการว่างงานที่มีแนวโน้มลดลง ทั้งหมดล้วนส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจไทยในภาพรวม “ นายยรรยง ย้ำสรุป.