R&I คงความเชื่อถือไทย A- ชี้! มีเสถียรภาพ
บ.จัดอันดับจากญี่ปุ่น “R&I” คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ที่ A- และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ ชี้! “การคลังสาธารณะ – การเงินต่างประเทศ” ยังแกร่ง แต่ยังห่วงปม “การเมือง-โครงสร้างประชากร”
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผอ.สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กล่าวว่า บริษัท Rating and Investment Information, Inc. (R&I) ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น จัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้และผู้ออกตราสารหนี้ทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศ ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ A- และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564
แสดงถึงความเชื่อมั่นในแนวทางการดำเนินโยบายของรัฐบาลและทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวและเติบโต โดยมีรายละเอียดดังนี้
1) คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ระดับ A- และมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เนื่องจากรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการดำเนินมาตรการเชิงรุกในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อีกทั้งมีการดำเนินการในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและผลักดันให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศมีศักยภาพในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว และหลุดพ้นจากการติดกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap)
2) ภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) มีความแข็งแกร่งเป็นผลจากการบริหารจัดการทางคลังอย่างรอบคอบและเป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เพื่อรักษาวินัยทางการคลัง ส่งผลให้รัฐบาลมีพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) เพื่อสนับสนุนการดำเนินมาตรการต่างๆของรัฐบาลเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี แม้ว่าการระบาดของ COVID-19 จะทำให้รัฐบาลไทยและต่างประเทศต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น แต่ R&I ยังเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 จะฟื้นตัวและเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปและจะช่วยฟื้นฟูการลงทุนภายในประเทศในระยะต่อไป
3) ภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) ยังคงมีความเข้มแข็ง โดยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล และทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง
4) ประเด็นที่ R&I ให้ความสนใจและจะติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ความไม่แน่นอนทางการเมือง และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่ส่งผลต่อการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจและการเติบโต ทางเศรษฐกิจของประเทศ.