ชี้ 6 ทางลัดSMEsหนีตาย “ดีสรับฯ”
วงเสวนา “จับกระแส Disruptive Innovation คือ วิกฤตหรือโอกาส” แนะ 6 ขั้นตอนให้เอสเอ็มอีปรับตัวหนีตายจากสงครามออนไลน์ที่จีนและอินโดฯรุกหนัก ด้าน “ผอ.ศูนย์วิจัย CIMB” ฟันงธง! ศุกร์หน้าสงครามการค้าจบแน่ เชื่อจีนยอมให้สหรัฐขี่เล็กๆ นอกจากทุกฝ่ายไม่เสียหน้า ยังนำสู่ผลประโยชน์ “วิน-วิน” อย่างลงตัว
เวทีเสวนา “จับกระแส Disruptive Innovation คือ วิกฤตหรือโอกาส” ที่ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จัดขึ้น ณร.ร.เรเนซองส์ กรุงเทพ โดยมีนายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวเปิดงาน ท่ามกลางเจ้าของกิจการและผู้บริหารระดับต่างๆ ของกลุ่มเอสเอ็มอีไทย เข้าร่วมรับฟังนับพันคน
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโสสำนักวิจัยแห่งธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวถึงมุมมองเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางสถานการณ์กลิ่นอาย “สงครามการค้าโลก” ว่า ส่วนตัวเชื่อว่าสถานการณ์นี้จะอยู่ไม่นาน และผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายคือ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ปธน.สหรัฐอเมริกา และผู้นำจีนรวมถึงผู้นำสหภาพยุโรป น่าจะมีการนัดหารือเพื่อยุติปัญหาได้ภายในปลายสัปดาห์หน้า หรืออย่างน้อยก็จะมีภาพความชัดเจนปรากฏชัดขึ้น ก่อนจะมีการประกาศสงครามกำแพงภาษีระหว่างกัน ซึ่งจะไม่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย แม้กระทั่งไทย
“ทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยต่างไม่มีปัจจัยใดที่จะน่ากังวล แต่ที่ทุกฝ่ายกังวลคือความไม่แน่นอนและภาพความไม่ชัดเจนของสถานการณ์สงครามการค้า ซึ่งเชื่อว่าสุดท้ายทุกฝ่ายจะหาข้อยุติลงไปได้ และภาพความเป็นไปได้คือ จีนเปิดโอกาสนำเข้าสินค้าจากสหรัฐมากขึ้น หลังจากเกินดุลการค้าสหรัฐมามาก โดยจีนส่งงออกไปตลาดสหรัฐถึงกว่า 4 แสนล้านเหรียญ ขณะที่นำเข้ามีเพียง1.3-1.4 แสนล้านเหรียญเท่านั้น และนั่นจะทำให้ภาพที่ออกมาเป็นวิน-วินกับทุกฝ่าย”
ส่วนเศรษฐกิจไทย ดร.อมรเทพ มองว่า แม้จะได้รับผลกระทบจากภาวะดังกล่าวบ้างในแง่ของความกังวลใจของนักลงทุนต่างชาติ แต่เพราะไทยมีสเถียรภาพทางเศรษฐกิจและมีตัวเลขเศรษฐกิจที่มั่นคงโดยเฉพาะภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ค่าเงินบาทก็ไม่ได้ลดค่ามากนัก ทุกอย่างเป็นไปตามสถานการณ์ที่สอดคล้องกับเพื่อนบ้านอาเซียน จึงทำให้ไทยยังคงเป็นตลาดที่น่าสนใจในอันดับต้นๆ ต่อไป
ยิ่งภาพการเมืองของไทยเริ่มมีความชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้งในช่วงต้นปีหน้า และการลงทุนภาครัฐที่แม้ตอนนี้อาจจะเห็นการลงทุนที่ไม่ชัดเจนนัก แต่ก็เข้าใจได้ว่าทุกอย่างกำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยทั้งสิ้น ส่วนตัวเชื่อว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปีนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 4.3%
“ตอนนี้ทางการจีน ประกาศนโยบาย “เมดอินไชน่า 2025″ ด้วยการส่งออกสินค้านวัตกรรมไปทั่วโลกจำเป็นที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องรับตัวเพื่อล้อไปกับนโยบายที่ว่านี้ เพื่อไม่ให้หลุดจากห่วงโซ่ที่เราไม่อาจต้านทานได้ และอาศัยนโยบายของจีนสร้างโอกาสไปพร้อมกันในฐานะซัพพลายเชนและมาร์เก็ตติ้งให้กับโรงงานของจีน” ดร.อมรเทพ ระบุ
อีกช่วงของการเสวนาหัวข้อหลักข้างต้น นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ECO&Founder e-frastructure inc.และ TARAD.com กล่าวว่า วันนี้โลกไม่อาจหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เทคโนโลยีพัฒนาไปข้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง และยิ่งพัฒนามากเท่าใด ผลกระทบที่เรียกว่าเป็น “Disruptive Innovation” (การเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมอย่างฉับพลัน) ก็จะยิ่งรุนแรงและขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น หลายธุรกิจต่างได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิค้าปลีก ภาคการขนส่ง แม้กระทั่งวงการสื่อสารมวลชน จำเป็นจะต้องหาทางรับมือและปรับตัวให้เข้ากับสิ่งนี้ให้ได้
“จีนถือเป็นประเทศที่ก้าวหน้ามากๆ ในเรื่องของการทำธุรกรรมออนไลน์บนมือถือ ตั้งแต่กา รสั่งซื้อสินค้าและชำระเงิน ผ่านแพลตฟอร์มที่พวกเขาพัฒนาขึ้นมา เช่น อาลีเพย์ วีแชตเพย์ ฯลฯ รวมถึงการรุกคืบของกลุ่มอาลีบาบา และวีแชตในเมืองไทย นอกจากนี้ ยังจะมีกลุ่มเว็บเทรดออนไลน์รายใหญ่จากเพื่อนอาเซียนอย่าง กลุ่มโกเจคของอินโดนีเซีย ก็กำลังรุกเข้ามาในไทยและอาเซียน ขณะที่กลุ่มช้อปปี้ในเครือซีพีเองก็พยายามขยายฐานการตลาดในไทย เชื่อว่าจากนี้คงได้เห็นการทุ่มเงินจำนวนมหาศาลเพื่อซื้อสื่อโฆษณาออนไลน์สำหรับโปรโมทตัวเองอย่างแน่นอน”
นายภาวุธ กล่าวอีกว่า จากนี้ไปสถานการณ์ “Disruptive Innovation” จะมีให้เห็นมากยิ่งๆ ขึ้น หากผู้ประกอบไทยไม่ปรับตัวในลักษณะของการ “ดิสรับตัวเอง” ก็จะต้องถูกคู่แข่งที่ใช้เทคโนโลยีที่เหนือกว่ามา “ดิสรับ” ต้องล่มสลายในที่สุด พร้อมกับชี้ช่องให้ผู้ประกอบไทยไทยเร่งทำใน 6 สิ่ง คือ 1.สร้างแบรนด์ให้มีความเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่น 2.เพิ่มช่องทางการตลาดใหม่ๆ โดยอาศัยช่องทางออนไลน์ให้มากที่สุด 3.เร่งเพิ่มประสิทธิภาพของเทคโนโลยีภายในองค์กร 4.สร้างทีมงานขึ้นมาดูแลรับผิดชอบสายงานออนไลน์เป็นการเฉพาะ 5.ดึงหรือสร้างหรือเปิดทางให้คนรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวด้านเทคโนโลยีออนไลน์มารับผิดชอบโดยตรง และ 6.เจ้าของหรือผู้บริหารระดับสูงต้องลงมาศึกษาเทคโนโลยีออนไลน์อย่างจริงจัง
“โจทย์ใหญ่ของเอสเอ็มอี โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยรับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) สินค้าให้กับเจ้าของสินค้าทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งถูก “ดิสรับ” จากสถานการณ์นี้ คือ จำเป็นต้องปรับตัวให้เร็วที่สุด ซึ่งทางออกในเรื่องนี้ มี 2 อย่าง คือ เน้นผลิตสินค้าในกลุ่มเทลเลอร์เมด หรือไม่ก็เน้นกลุ่มตลาดเฉพาะทาง (นิชมาร์เก็ต) แต่ต้องเป็น “โกลบอล นีชมาร์เก็ต” อย่าได้เป็น “โลคัล นีชมาร์เก็ต” เด็ดขาด” นายภาวุธ ย้ำและว่า
ตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) ยังคงเป็นตลาดที่น่าสนใจของสินค้าไทย เนื่องจากคนในกลุ่มประเทศเหล่านี้ชื่นชอบและนิยมสินค้าจากไทย และอาจเป็นช่องทางในการทำตลาดออนไลน์ขายสินค้าไทยในกลุ่มประเทศดังกล่าวได้เป็นอย่างดี.