ดีเดย์! ปลูกกัญชา – ยสท.รับลงทะเบียน 1 เม.ย.นี้
ยสท.จ่อรับลงทะเบียนปลูกกัญชา “ดีเดย์ – 1 เม.ย.นี้” หลัง สคร. เร่งปลดล็อก เผย! รอบนี้ เปิดกว้างทั้งเกษตรกรเครือข่ายฯและคนทั่วไป ด้าน “ผู้ว่าการภาณุพล” ย้ำ! รุกกัญชาเชิงพาณิชย์ เป็นหนึ่งในแผน Change สร้างธุรกิจและรายได้ใหม่ๆ พร้อมผนึก กฟภ. ผุด Solar Rooftop ที่ รง.อยุธยา ตั้งเป้าพื้นที่ 1.65 แสน ตร.ม. ผลิตไฟฟ้า 4.6-4.7 เมกกะวัตต์ คาดประหยัดค่าไฟฟ้าปีละ 19 ล้านบาท
นายภาณุพล รัตนกาญจนภัทร ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) กล่าวถึงแผนการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงาน (Change) ของ ยสท. ภายหลังได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ และแนวโน้มการลดลงของผู้สูบบุหรี่ ว่า นอกจากการปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น จนทำให้มีกำไรในปี 2563 มากกว่า 800 ล้านบาทแล้ว ในส่วนของทีมผู้บริหารฯ ยังปรับเปลี่ยนเชิงรุก โดยในปี 2564 นี้ จะประเมินผลงานของผู้บริหาร ยสท. โดยวัดจากประสิทธิภาพ (Ferformence) ในการทำงาน และในปีต่อไป จะลงไปประเมินในระดับผู้อำนวยการฝ่ายฯ บนมาตรฐานเดียวกัน เพื่อสร้างองค์กรที่มีประสิทธิภาพในการทำงานรองรับแผนงานใหม่ๆ ในอนาคตอันใกล้
และการเปลี่ยนแปลงในเชิงธุรกิจของ ยสท. จากเดิมที่เน้นผลิตและจำหน่ายบุหรี่และยาเส้น จะเปลี่ยนไปสู่การเดินหน้ารุกสู่ธุรกิจใหม่ๆ เช่น การพัฒนาธุรกิจยาสูบไปต่างประเทศ การพัฒนารายได้จากอสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะการให้เช่าที่ดินใจกลางเมืองเชียงราย เชียงใหม่ หนองคาย ฯลฯ รวมถึงที่ดินย่าน ถ.เจริญกรุง กรุงเทพฯ นอกจากนี้ ยังจะเดินหน้าเชิงลึกในธุรกิจที่เป็นประโยชน์แก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิกเครือข่ายของ ยสท. นั่นคือ การปลูกพืชสมุนไพร เช่น กัญชงและกัญชา โดยมีโรงพยาบาลสวนเบญจกิติเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา ของ ยสท. เป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสุขภาพ
“ขณะนี้ สคร.(สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ) อยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมายเพื่อปลดล็อกให้ ยสท.ได้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับกัญชงและกัญชาในทางการแพทย์ เนื่องจาก มี ยสท.เท่านั้น ที่เหมาะสมกับดำเนินงานในเชิงพาณิชย์ คาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนสิ้นเดือนมีนาคมนี้ เนื่องจาก ยสท.จะเปิดให้เกษตรกรที่เป็นเครือข่ายสมาชิกฯ ราว 13,000 ครัวเรือน ได้ลงทะเบียนเพื่อการเพาะปลูกกัญชงและกัญชา ในวันที่ 1 เมษายนนี้ หรืออาจจะเร็วกว่านั้น” นายภาณุพล ย้ำ
ข้อมูลที่น่าสนใจคือ รายได้จากการเพาะปลูกใบยาสูบแต่ละปี เฉลี่ยราว 2,300 บาทต่อไร่ แต่หากเกษตรกรฯหันมาเพาะปลูกใบกัญชงและกัญชา โดยเฉพาะใบกัญชาที่ปัจจุบันจำหน่ายใบสดอยู่ที่ราคากิโลกกรัมละ 4,000 บาทแล้ว จะทำให้เกษตกรมีรายได้มากถึง 250,000 บาทต่อไรต่อปี เลยทีเดียว ซึ่ง ผู้ว่าการ ยสท. คาดว่า จะมีเกษตรกรใบยาสูบ สนใจมาลงทะเบียนเพาะปลูกกัญชากับ ยสท. ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 แต่หากสนใจมากกว่านั้น ยสท.ก็พร้อมเปิดกว้าง ไม่เพียงแค่นั้น ยังจะเปิดให้กับบุคคลทั่วไปที่สนใจได้ลงทะเบียนเพื่อการเพาะปลูกใบกัญชา ส่งขายให้กับ ยสท.อีกด้วย ส่วนการกำหนดเงื่อนไขคงจะมีความชัดเจนตามมาในภายหลัง
นอกจากนี้ ยสท. ยังเน้นการยกระดับให้บริการด้านการแพทย์ โดยเฉพาะ ศูนย์ไตเทียม ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์ผิวหนังและความงาม คลินิกชะลอวัยและฟื้นฟู รวมถึงจะเริ่มโครงการคลินิกกัญชา และพร้อมขยายการบริการไปยังข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และประชาชนทั่วไป ซึ่งในเรื่องนี้ ยสท. ได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ม.มหิดล ม.เชียงใหม่ ม.ราชภัฏเชียงใหม่ ม.นเรศวร รวมถึงสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ฯลฯ
ขณะเดียวกัน ยสท. ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการบริหารจัดการเพื่อการประหยัดพลังงาน กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อบูรณาการด้านการบริหารจัดการและพัฒนาเทคโนโลยีในการประหยัดพลังงาน ภายใต้แนวคิด Smart Green Factory ซึ่งเป็นแบบอย่างของอาคารยุคใหม่ที่คำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีการควบคุมคุณภาพ ประสิทธิภาพและพลังงาน เพื่อให้เป็นสถานที่ทำงานที่มีบรรยากาศการทำงานที่มีความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีของพนักงาน ทั้งนี้ การบริหารจัดการเพื่อการประหยัดพลังงานในองค์กร เป็นภารกิจสำคัญที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน
ด้วยการ ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนอาคาร (Solar Rooftop) โรงงานผลิตยาสูบใน จ.อยุธยา คิดเป็นพื้นที่ราว 1.65 แสนตารางเมตร เพื่อผลิตไฟฟ้าได้ราว 4.6-4.7 เมกกะวัตต์ โดย ยสท.ไม่ต้องออกค่าดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากบริษัทลูกของ กฟภ. คือ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) จะเป็นผู้จัดหาเอกชนมาลงทุนให้กับ ยสท. ทำให้สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ปีละ 19 ล้านบาท
ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานจะทำให้ ยสท.มีรายได้ในปี 2564 ไม่น้อยกว่าปี 2563 และรายได้จากเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท นับแต่ปี 2565 เป็นต้นไป
ด้าน นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการ กฟภ. กล่าวว่า กฟภ.ตระหนักดีว่าพลังงานเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ดังนั้น การบริหารจัดการเพื่อการประหยัดพลังงาน จึงเป็นภารกิจสำคัญที่ทุกภาคส่วนสามารถช่วยประเทศชาติได้ ซึ่ง ยสท. ถือเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีแนวทางการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้หารือกันเพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกัน ทั้งในด้านการใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงานที่เหมาะสม เพื่อมาปรับใช้ในองค์กร ทั้งนี้ กฟภ.ยินดีที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้การพัฒนาโครงการบริหารจัดการประหยัดพลังงานภายในการยาสูบแห่งประเทศไทยบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้.