TMB Analytics คาดรายได้ภาคเกษตรปี64 โต2.9%
TMB Analytics ประเมินแนวโน้มสินค้าภาคเกษตรไทยปี 2564เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.9% แตะ 8.96 แสนล้าน ผลจากความต้องการสินค้าเกษตรในตลาดโลกและราคาน้ำมันที่สูงขึ้นกว่าปีก่อน
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics คาดว่ารายได้ภาคเกษตรในปี 2564 จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.9% หรือมีรายได้รวมอยู่ที่ 8.96 แสนล้าน จากแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรในปีนี้จะยังคงขยายตัวจากปีก่อนที่ร้อยละ 1.4 จากความต้องการสินค้าเกษตรในตลาดโลกและราคาน้ำมันที่สูงขึ้นกว่าปีก่อน ในขณะที่ผลผลิตจะเพิ่มขึ้น 1.5% จากปีก่อนนี้ จากอานิสงส์ปรากฏการณ์ลานีญา (La Nina) ที่ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือน มิ.ย. – ส.ค. ปี 2563
ซึ่งเป็นผลดีต่อการปลูกพืชในช่วงฤดูกาลผลิต ในขณะที่ช่วงต้นปี บางพื้นที่อาจจะมีน้ำไม่เพียงพอใช้ เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนที่ลดต่ำลงในช่วงต้นปี 2564 โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือและภาคกลางตอนบน ส่งผลให้ในช่วงนี้ ผลผลิตของการปลูกพืชในเขตชลประทานมีแนวโน้มลดลง
หากเจาะลึกลงไปในด้านอุปทาน พบว่าสถานการณ์ผลผลิตการเกษตรในระดับภูมิภาค ตามการประเมินของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าปริมาณน้ำฝนทั้งประเทศในปีนี้จะมากกว่าค่าปกติร้อยละ 10-15 โดยคาดว่าปรากฏการณ์ลานีญาจะกลับมาอีกครั้ง และทำให้ปริมาณฝนตกมากขึ้นตั้งแต่เดือน มี.ค.-ส.ค. ซึ่งดีกว่าปีก่อนที่ฝนตกน้อยกว่าค่าปกติถึงร้อยละ 20 โดยภูมิภาคที่ได้รับอานิสงส์จากปริมาณน้ำฝนมากที่สุดได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ซึ่งหากมองในภาพรวมแล้วปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังก็ยังเป็นปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตร
สำหรับด้านอุปสงค์ของสินค้าการเกษตร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ประเมินแนวโน้มสินค้าเกษตรในปี 2564 เป็น 2 กลุ่มสินค้า ตามการขยายตัวของรายได้ ดังนี้
1. สินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มดี ได้แก่ เนื้อสัตว์ สุกร และไก่ รายได้จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9% ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รายได้จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.1% และยางพารา รายได้จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.3%
2. สินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มทรงตัว ข้าว รายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยที่ร้อยละ 2.7 มันสำปะหลัง รายได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.8% ปาล์มน้ำมัน รายได้จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ ร้อยละ 1.3% อ้อย รายได้จากอ้อยและน้ำตาลจะลดลงเฉลี่ยร้อยละ 0.6% อาหารทะเล รายได้ในกลุ่มนี้จะลดลงเฉลี่ยร้อยละ 1.8%
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ลดทอนความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทยได้แก่การแข่งขันที่สูง และค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในปี 2564 อย่างไรก็ตาม หากเราสามารถควบคุมระดับอุปทานให้มีปริมาณที่เหมาะสมและต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงนโยบายสนับสนุนที่ช่วยประกันความเสี่ยงด้านราคาจากภาครัฐ จะช่วยให้สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยหล่อเลี้ยงเกษตรกรและเศรษฐกิจภายในประเทศได้