ปรับกลยุทธ์อุตสาหกรรม EEC รับความเสี่ยงน้ำระยะยาว
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ออกบทวิเคราะห์ถึงปริมาณการใช้น้ำในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมองว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC จะทำให้ความต้องการใช้น้ำในภาคตะวันออกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้นตามการขยายตัวของกำลังการผลิต : เป็นผลให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องเร่งลงทุนเพื่อเพิ่มความจุน้ำให้ได้อีกกว่า 350 ล้านลูกบาศก์เมตรภายในระยะ 10 ปี
ผ่านโครงการบริหารจัดการน้ำต่างๆ เช่น การเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำ การสร้างอ่างเก็บน้ำใหม่ ปรับปรุงระบบสูบน้ำกลับท้ายอ่าง การสร้างอ่างพวง และการหาแหล่งน้ำสำรอง เป็นต้น
ถึงแม้ว่าภาครัฐและเอกชนจะมีแผนรองรับการเติบโตของความต้องการใช้น้ำใน EEC แล้ว แต่ความเสี่ยงด้านการขาดแคลนน้ำอาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ไม่แน่นอนในแต่ละปี : ตามสภาวะภูมิอากาศ โดยเฉพาะวัฏจักรเอลนิโญ่ (El Niño) ที่ทำให้เกิดสภาวะแล้งอย่างเช่นช่วงปลายปี 2014 จนถึงต้นปี 2016 ที่ผ่านมา (รูปที่ 1) และจะเกิดขึ้นอีกทุกประมาณ 6 ปี รวมถึงความเสี่ยงด้านการขาดแคลนน้ำที่ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นร่วมด้วย จากข้อมูลของ World Resource Institute (WRI) พบว่า ในปี 2030 ลุ่มน้ำบางประกง อันเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่โครงการ EEC จะอยู่ในสภาวะความเครียดน้ำ หรือ water stress มากขึ้น เพราะมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณน้ำที่มีคุณภาพซึ่งสามารถนำมาใช้ได้นั้นมีอยู่อย่างจำกัด สะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอนจากความเสี่ยงของภัยธรรมชาติที่อาจมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในระยะยาวทั้งด้านต้นทุน ความต่อเนื่องของการผลิต และความสัมพันธ์กับชุมชน
แม้ในระยะสั้นความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำจะอยู่ในระดับต่ำ แต่ผู้ประกอบการควรพิจารณาลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำ เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต : จากผลสำรวจในปี 2017 ของ Carbon Disclosure Project (CDP) ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนให้บริษัทรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการบริหารความเสี่ยงทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ระบุว่าผู้ประกอบการทั่วโลกเริ่มเห็นว่า การขาดแคลนน้ำ (water scarcity) ภัยแล้ง และน้ำท่วม คือสาเหตุหลักที่ทำให้ความเสี่ยงด้านต้นทุนการใช้น้ำสูงขึ้น รวมถึงทำให้เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และเป็นการสร้างความขัดแย้งกับชุมชนใกล้เคียงจนอาจนำไปสู่การฟ้องร้อง ทั้งนี้ เพื่อลดผลกระทบจากความเสี่ยงดังกล่าว บริษัทชั้นนำกว่า 2,000 รายทั่วโลกจึงเริ่มหันมากำหนดเป้าหมายการใช้น้ำขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น เช่น บริษัท Dow Chemical ได้ออกมาประกาศว่าทางบริษัทจะลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เกิดสภาวะ water stress ให้ได้อย่างน้อย 20% ภายในปี 2025 ด้วยการใช้เทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียเพื่อนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงสร้างเครือข่ายคู่ค้าเพื่อปรับปรุงการเข้าถึงและคุณภาพน้ำทั่วโลก ทั้งนี้ บริษัทที่ตอบแบบสำรวจของ CDP ทั่วโลกในปี 2017 ได้ใช้เงินลงทุนไปแล้วราว 7.4 แสนล้านบาทในโครงการเกี่ยวกับน้ำทั้งในและนอกรั้วโรงงานเพื่อลดผลกระทบจากความเสี่ยงด้านน้ำ
สำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำปริมาณมากเป็นวัตถุดิบควรวางแผนการใช้น้ำอย่างยั่งยืน : ยกตัวอย่าง อุตสาหกรรมผลิตอาหารและเครื่องดื่มซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้น้ำในกระบวนการผลิตอย่างมาก ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งกับชุมชนที่ใช้แหล่งน้ำเดียวกันได้ จึงควรลงทุนในโครงการทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำภายในโรงงานและเสริมสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนใกล้เคียงเพื่อใช้ทรัพยากรน้ำร่วมกันอย่างคุ้มค่าและเท่าเทียม ตัวอย่างเช่น โรงงานของบริษัท Coca-Cola ในอินเดียเคยขัดแย้งกับชุมชนรอบข้างในปี 2007 เนื่องจากมีการสูบน้ำขึ้นมาใช้ในกระบวนการผลิตน้ำอัดลมบรรจุขวดจนชุมชนรอบข้างได้รับผลกระทบ นำไปสู่การประท้วงและหยุดการผลิต ทำให้ Coca-Cola ต้องวางกลยุทธ์การใช้น้ำขององค์กรใหม่ โดยมีเป้าหมายว่าจะนำน้ำที่ดึงไปใช้ในกระบวนการผลิตกลับสู่แหล่งน้ำ ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำขององค์กร บริหารน้ำเสียที่เกิดขึ้นในบริเวณโรงงาน และนำแนวคิดเรื่อง water stewardship ซึ่งเป็นแนวคิดด้านการใช้น้ำอย่างยั่งยืนทั้งต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมาเป็นมาตรฐานการดำเนินการขององค์กร (standard operating procedures) ที่ใช้กับโรงงานCoca-Cola ทั่วโลก จนสามารถคืนน้ำได้เท่ากับปริมาณน้ำตามยอดขายของบริษัทได้สำเร็จ หรือราว 221 ล้านลูกบาศก์เมตร ผ่านโครงการคืนน้ำสะอาดสู่ธรรมชาติ และส่งเสริมการเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขาภิบาลอย่าง
เท่าเทียมแก่ชุมชน : นอกจากนี้อุตสาหกรรมที่ใช้น้ำในปริมาณมากและมีความเสี่ยงที่กระบวนการผลิตจะเสียหายอย่างรุนแรงจากการขาดน้ำ ควรพิจารณาลงทุนในเทคโนโลยีน้ำเพื่อรองรับสภาวะฉุกเฉิน เช่น อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า ปิโตรเคมีและโรงกลั่น ซึ่งจำเป็นต้องใช้น้ำเพื่อการหล่อเย็นในกระบวนการผลิตและยังต้องใช้น้ำที่ได้คุณภาพ เช่น น้ำบริสุทธิ์ (demineralized water) อีกด้วย (รูปที่ 2)
อีไอซีมองว่าการลงทุนในเทคโนโลยีที่ช่วยลดการระเหยของน้ำและช่วยผลิตน้ำจืดจะสามารถตอบโจทย์การสำรองน้ำใช้ในสภาวะฉุกเฉิน เช่น โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ (floating solar farm)จะช่วยลดการระเหยของน้ำในอ่างเก็บน้ำ อีกทั้งสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อลดค่าใช้จ่ายบางส่วนและทำให้การลงทุนมีจุดคุ้มทุนเร็วขึ้น นอกจากนี้ มีผู้เล่นบางรายที่ได้นำเทคโนโลยีผลิตน้ำจืดมาใช้แล้ว เช่น การนำน้ำเสียไปบำบัดให้ได้น้ำจืด และเทคโนโลยีนำน้ำทะเลมาผลิตเป็นน้ำจืด (desalination) อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีแต่ละชนิดมีข้อจำกัดและต้นทุนในการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป เช่น น้ำเสียจากกระบวนการผลิตบางชนิดอาจไม่คุ้มที่จะนำมาบำบัดเพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ เพราะต้องใช้เทคโนโลยีบำบัดขั้นสูงจึงจะได้น้ำที่มีคุณภาพดีพอที่จะใช้ได้ หรือต้นทุนการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลต่อหน่วยแพงกว่าราคาน้ำประปาเฉลี่ยราว 3-3.5 เท่าแม้ว่าต้นทุนมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องก็ตาม ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรพิจารณาถึงระดับความเป็นไปได้ของสภาวะฉุกเฉินในระยะยาว คุณภาพน้ำที่ต้องการ และต้นทุนของเทคโนโลยีในการประเมินความคุ้มค่าการลงทุน