จี้ธุรกิจอาเซียนศึกษาเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภค
แนะนักลงทุนและผู้บริหารองค์กรธุรกิจกลุ่มอาเซียนเร่งศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีดิจิทัลที่พัฒนารุดหน้าอย่างรวดเร็ว ชี้ดูตัวอย่างจีน ทุ่มงบ R&D จนวันนี้ขึ้นชั้นชาติผู้นำ “สังคมไร้เงินสด” ของโลกไปแล้ว เชื่อเอสเอ็มอีที่ทุนน้อยสามารถต่อยอดและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเดิมที่มีอยู่ให้เหมะกับธุรกิจของตัวเอง
ต่อเนื่องจากการจัดงาน AEC Business Forum 2018 ที่ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 กับงานเสวนาหัวข้อ ASEAN : Change and Business Model Transformation ซึ่งผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายวิลเลี่ยม อี. ไฮเนคกี้ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทในเครือไมเนอร์ กรุ๊ป ประเทศไทย, นายโม มินต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท MPRL E&P Pte จำกัด (เมียนมาร์) และนายดอน ลัม ประธานจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท วีนาแคปิตอล (เวียดนาม) โดยมีนายบัญชา ชุมไชยเวทย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
นายโม มินต์ กล่าวว่า โลกทุกวันนี้เข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลงอย่างแรงและเร็ว โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบถึงการผลิตพลังงานรูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานหลักหรือพลังงานทางเลือก ทั้งนี้ พบว่าการผลิตไฟฟ้าทั่วโลกต่างหันมาเน้นพลังงานทางเลือกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพลังน้ำ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ หรือแม้แต่พลังงานนิวเคลียร์ ขณะที่หลายประเทศลดกำลังการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน เนื่องจากส่งผลกระทบต่อมลภาวะของโลก
อย่างไรก็ดี การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติยังคงมีสัดส่วนที่สูง ในส่วนของประเทศไทยพบว่ามีการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติถึง 60% และบางส่วนนำเข้าจากเมียนมาร์ผ่านมายังโรงไฟฟ้าราชบุรี ในอนาคตหากปริมาณก๊าซธรรมชาติของไทยเหลือน้อยลง ยังมีก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาร์รองรับกำลังการผลิตไฟฟ้าตามพันธะสัญญาที่มีต่อกัน ทั้งนี้เมียนมาร์มีแผนที่จะขุดแก๊สธรรมชาติจากแหล่งใหม่บริเวณชายฝั่งทะเล รวมถึงเร่งผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ เชื่อว่าในอนาคตเมียนมาร์จะเป็นแหล่งป้อนพลังงานไฟฟ้าให้กับไทยได้เป็นอย่างดี
“กำลังการผลิตไฟฟ้าของเรามีสูงมาก และเกินความต้องการใช้ภายในประเทศ ที่ยังพัฒนาได้ไม่มากนักเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน ทำให้ปริมาณไฟฟ้ามีเหลือเยอะมาก จึงต้องส่งออกมาให้ไทยและจีน แต่ในอนาคตเมื่อบ้านเมืองของเราพัฒนาขึ้น ความต้องการใช้ก็จะมีสูงขึ้น ทั้งนี้ บ้านเมืองที่พัฒนาจากเศรษฐกิจที่เติบโต จำเป็นที่ชาติสมาชิกอาเซียนต้องสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและด้านไฟฟ้ารองรับความต้องการใช้ในอนาคต”
นายดอน ลัม กล่าวว่า อาเซียนเป็นตลาดที่น่าสนใจ เพราะมีศักยภาพสูงและเป็นตลาดใหญ่ มีผู้คนมากกว่า 630 ล้านคน การพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัลจึงสร้างโอกาสใหม่ๆให้กับนักลงทุนและผู้บริโภคในแต่ละประเทศ เมื่อก่อนโลกให้ความสนใจและความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีจากฝั่งยุโรปและอเมริกา แต่ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไป จีนกลายเป็นประเทศที่ทุ่มงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลมากที่สุดและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เห็นได้ว่าทุกวันนี้ จีนมีระบบการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสด แต่ใช้ผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่พวกเขาคิดค้นขึ้นมา สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่นักธุรกิจ นักลงทุน แม้แต่ผู้บริโภคในอาเซียนก็ต้องให้ความสนใจและให้ความสำคัญ เพราะถือเป็นก้าวย่างของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโลกและอาเซียน
ด้านนายวิลเลี่ยม อี. ไฮเนคกี้ กล่าวว่า พัฒนาการของเทคโนโลยีได้สร้างความเปลี่ยนแปลงมากมาย การเกิดขึ้นของอูเบอร์และอีกหลายๆ ธุรกิจใหม่ ล้วนสร้างความแตกต่างไปจากเดิม บางธุรกิจสามารถแตกไลน์และให้บริการเพิ่มเติมจากเดิมที่เคยมี เช่น ธุรกิจรถแท็กซี่ที่ให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่น แต่ยังสามารถจะให้บริการรับส่งอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงรับส่งพัสดุชิ้นที่ไม่ใหญ่มากนักเพิ่มเติมได้
ดังนั้น ทุกธุรกิจไม่ว่าจะอยู่ในระดับใด จำเป็นจะต้องเรียนรู้และรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีฐานะการเงิน มียอดขายและผลกำไรไม่สูงนัก ก็ไม่จำเป็นจะต้องไปลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลเพื่อซื้อเทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านั้นมาใช้ แต่ควรนำเทคโนโลยีเดิมที่มีอยู่แล้วมาต่อยอดและใช้ให้เหมะกับธุรกิจของตัวเอง
“เทคโนโลยีทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป พบว่าลูกค้าหลายคนเริ่มที่จะไม่จงรักภักดีต่อแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์เดิมที่เคยใช้อีกแล้ว นั่นเพราะอิทธิพลของอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ที่สามารถจะเข้าถึงวิถีชีวิตของพวกเขาเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส ดังนั้น นักธุรกิจและผู้บริหารองค์กรธุรกิจ จึงจำเป็นต้องศึกษาและเรียนรู้พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทัน” นายวิลเลี่ยม อี. ไฮเนคกี้ กล่าวสรุป.