ธนารักษ์เคลียร์จบ! ปมเวนคืนฯ ก่อนผุดโปรเจ็กต์ 2.2 หมื่นล.
“ยุทธนา” เคลียร์ปมคาใจชาวบ้านโดนเวนคืนที่ดินหลังขนส่งหมอชิตเก่า ยืนยัน! โครงการคอมเพล็กซ์ฯ ไม่มีการสร้างทางยกระดับ ออกสู่ ถ.วิภาวดีรังสิตแน่! เตรียมแจ้ง กทม. รับทราบเจตนารมณ์นี้ เผย! โครงการเดินหน้าเร็ว จะมีเงินไหลเข้ารัฐไว แถมโครงการมูลค่า 2.2 หมื่นล้านบาท ยังตกเป็นของรัฐอีก พร้อมทำหนังสือทวงค่าเช่า “จอดแล้วจร – อู่ซ่อม บีทีเอส” 240 ล้านบ จาก กทม.แล้ว
นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวระหว่างลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุ จำนวน 63 ไร่เศษ บริเวณสถานีขนส่งหมอชิต ซึ่งกรมธนารักษ์ได้ทำสัญญาก่อสร้างและบริหารโครงการฯบนพื้นที่ 40 ไร่ กับ บจ. บางกอกเทอร์มินอล (BKT) เพื่อจัดทำโครงการเชิงพาณิชย์กว่า 7.7 แสนตารางเมตร และพื้นที่ชดเชยให้กับบริษัท ขนส่งจำกัด (บขส.) อีกกว่า 1 แสนตารางเมตร ว่า เป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาความล่าช้าของโครงการฯที่ผูกพันมาตั้งแต่ปี 2539 ซึ่งจะทำให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ และทำให้มีรายได้นำส่งเข้ารัฐขณะเดียวกัน ก็แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง หลังจากกรุงเทพมหานคร ได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงจอมพล เขตจตุจักร เพื่อนำไปสร้างและขยายทางยกระดับเชื่อมระหว่างอาคารอู่จอดรถและซ่อมบำรุงไฟฟ้า กับถนนวิภาวดีรังสิต
“ประเด็นที่กรมฯหารือกับภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ เมื่อความจำเป็นในการก่อสร้างสถานีขนส่งรถโดยสารระหว่างเมืองหมดไปแล้ว หากไม่ต้องทำการเวนคืนที่ดิน ภาคเอกชนยังสามารถดำเนินโครงการมูลค่า 2.2 หมื่นล้านบาท ต่อไปได้หรือไม่? ซึ่งได้รับคำตอบว่าได้ นั่นก็หมายความว่าระหว่างที่ภาคเอกชนกำลังจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกิน 3 เดือนจากนี้ การเซ็นสัญญาการก่อสร้างที่จะเกิดขึ้นตามนั้น จะระบุไว้เลยว่าไม่มีความจำเป็นจะต้องเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างทางยกระดับฯอีกต่อไป” อธิบดีกรมธนารักษ์ ระบุ
สำหรับการก่อสร้างโครงการดังกล่าว คาดว่าจะดำเนินการได้ทันทีหลังจากเสร็จสิ้นการทำ EIA และเซ็นสัญญาการก่อสร้าง โดยกรมฯกำหนดเวลาในการก่อสร้างโครงการฯไม่เกิน 5 ปี ซึ่งระหว่างการก่อสร้างฯ ภาคเอกชนจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมตามสัญญาปีละ 6.1 ล้านบาท จนครบ 5 ปี และเมื่อสร้างเสร็จจะต้องยกกรรมสิทธิ์ในโครงการฯมูลค่า 2.2 หมื่นล้านบาทให้ตกเป็นของรัฐ พร้อมกับจ่ายค่าธรรมเนียมบริหารโครงการฯอีก 550 ล้านบาท ซึ่งภาคเอกชนขอต่อรองแบ่งจ่ายปีละ 110 ล้านบาทเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งกรมฯก็ไม่ติดขัดอะไร โดยระหว่างใช้พื้นที่ยังต้องจ่ายค่าเช่าให้กรมฯอีกปีละ 5 ล้านบาทเศษ จนครบ 30 ปี
จากนั้น นายยุทธนา ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและสร้างความมั่นใจให้กับชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง โดยมี แกนนำและตัวแทนชาวบ้านมาต้อนรับและสอบถามถึงความคืบหน้าของโครงการฯ โดยเฉพาะการตราพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินฯของกรุงเทพมหานครซึ่ง อธิบดีกรมธนารักษ์ ยืนยันว่า กรมฯและ BKT ไม่ประสงค์จะสร้างทางยกระดับอีกต่อไป ดังนั้น จึงไม่จำเป็นจะต้องทำการเวนคืนที่ดินดังกล่าว โดยการประชุมในเดือนหน้า (มีนาคม) ตนจะแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ กรุงเทพมหานคร ได้รับทราบถึงเจตนารมของกรมฯและภาคเอกช เพื่อให้กรุงเทพมหานครจะได้ทำการยกเลิกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินฯออกไป ซึ่งได้สร้างความพึงพอใจกับชาวบ้านกลุ่มนี้เป็นอย่างมาก
ส่วนกรณีที่ กรุงเทพมหานครได้เช่าที่ราชพัสดุ บริเวณสถานีขนส่งหมอชิต เพื่อจัดสร้างเป็นสถานที่จอดรถชั่วคราว (จอดแล้วจร) รวมถึงที่จอดพักและศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งได้ติดค้างค่าเช่ากับกรมธนารักษ์มาเป็นเวลานานนับตั้งปี 2542 และคิดเป็นเงินมากกว่า 240 ล้านบาทนั้น กรมธนารักษ์จะทำสัญญาทวงถามไปยังกรุงเทพมหานคร ต่อไป.