คลังถอย!! รับฟังปัญหาแพทย์ชนบท
คลังยอมถอยหนังสือลงวันที่ 18 พ.ค.2561 เรื่องการใช้เงินนอกงบประมาณเพื่อจ้างพนักงานต้องรายงานให้กรมบัญชีกลางทราบ ด้านชมรมแพทย์ชนบทเลิกรวมตัวชุมนุมประท้วงวันที่ 1 มิ.ย.นี้
นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังหารือกับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วยปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า การหารือในครั้งนี้ เพื่อทำความเข้าใจเรื่องร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ้างพนักงานหรือลูกจ้าง โดยใช้เงินนอกงบประมาณปี 2561 หลังจากกลุ่มแพทย์ชนบทยื่นข้อเรียกร้องให้ยกเลิก 2 ข้อ คือ ยกเลิกระเบียบกระทรวงการคลัง เรื่องการใช้เงินนอกงบประมาณจ้างพนักงานและลูกจ้าง เพราะเห็นว่ายังไม่ชัดเจน โดยขอให้เลื่อนบังคับใช้หนังสือลงวันที่ 18 พ.ค.2561 ไปก่อน เนื่องจากมีบางถ้อยคำที่ตีความยาก และ 2 จะมีการแก้ไขระเบียบเงินบำรุงของกระทรวงสาธารณสุข ในข้อที่ 10 เกี่ยวกับการใช้เงินบำรุงเพื่อจ้างบุคลากร
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เมื่อกรมบัญชีกลางทำข้อตกลงร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขแล้วเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียว กับส่วนราชการอื่น จึงขอเลื่อนระเบียบกระทรวงการคลังฉบับที่บังคับใช้เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2561 ออกไปก่อน นอกจาก นี้ ในช่วงบ่ายของวันที่ 31 พ.ค.กระทรวงการคลังและกรมบัญชีกลาง ยังนัดหารือกับทุกส่วนราชการเพิ่ม เพื่อรับฟังความเห็น ความจำเป็นการจ้างลูกจ้างของแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้เป็นกรอบมาตรฐานกลาง และเสนอข้อตกลงจัดทำแผนจ้างลูกจ้าง เช่นการจ้างพนักงานระยะ เวลา 1, 5, 10 ปี มีจำนวนเท่าใด และเมื่อใกล้ครบกำหนดการว่าจ้างแล้ว ต้องทำข้อตกลงก่อน การครบกำหนด เป็นต้น เพื่อให้กระทรวงการคลังทราบการใช้เงินนอกงบประมาณ เงินบำรุงและเงินบริจาคว่า มีจำนวนเท่าใดและสอดคล้องกับการจ้างพนักงานหรือไม่ เพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน หลังจากนั้น ถึงจะประกาศระเบียบเพื่อบังคับต่อไป
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยว่า กลุ่มแพทย์ชนบทพอใจ เมื่อเลื่อนบังคับใช้ระเบียบกระทรวงการคลังฉบับที่ประกาศเมื่อวันที่ 18 พ.ค.2561 ออกไปก่อน แม้จะมีกลุ่มแพทย์ชนบทบางท่านลางาน และจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในวันนี้ (1 มิ.ย.) เพื่อชุมนุมประท้วงก็ได้ เพราะถือเป็นความเข้าใจของแต่ละท่าน แต่ทางชมรมจะยกเลิกชุมนุมที่กระทรวงการคลังและทำเนียบรัฐบาล แต่พร้อมจะติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหาดัง กล่าว และเสนอว่า การออกระเบียบของกรมบัญชีกลางควรพิจารณาการทำงานของแต่ละส่วนราชการที่ไม่เหมือนกันด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีแพทย์อยู่ทั่วประเทศ 400,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นแพทย์ที่เป็นข้าราชการเพียง 20,000 คน และหากประมาณงานคนไข้กับจำนวนลูกจ้างของโรงพยาบาลแต่ละแห่งแล้ว คาดว่า แต่ละโรงพยาบาลได้ว่าจ้างพนักงานโดยใช้เงินนอกงบประมาณในสัดส่วนถึง 50% ของจำนวนบุคคลกรทางการแพทย์ทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันการว่าจ้างพนักงานดังกล่าวมีทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชและลูกจ้างชั่วคราว เป็นต้น.