ออมสินปล่อยกู้กองทุนหมู่บ้านช่วยผู้มีรายได้น้อย
ออมสิน พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจชาติ ร่วมปฏิบัติการ มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อยฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (14 ก.ย.58) ได้มีพิธีเปิดปฏิบัติการ “มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย และมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ” ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม ฮอลล์ 9 ศูนย์แสดงสินค้า และการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดงาน ซึ่ง ธนาคารออมสิน ในฐานะหน่วยงานหลักที่รัฐบาลได้มอบหมายให้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนมาตรการนี้ ได้เข้าร่วมงานนี้ นำโดย นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน พร้อมด้วยผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้าง ที่จะร่วมผลักดันมาตรการของรัฐบาลให้สัมฤทธิ์ผลโดยเร็ว
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมา ภาวะเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในช่วงชะลอตัว ทำให้รัฐบาลได้เร่งออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นหลากหลายรูปแบบ โดยมาตรการช่วยเหลือในส่วนของภาคประชาชน ธนาคารออมสิน ได้มีส่วนร่วมสำคัญในการผลักดัน มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในวันนี้ เป็นโครงการสำคัญที่ธนาคารออมสินได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลากว่า 15 ปี คือ โครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้ผลักดันเงินกองทุนนี้ภายใต้มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับหมู่บ้าน ด้วยการคัดเลือกหมู่บ้านที่มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ จนได้รับเลือกให้เป็นหมู่บ้านเกรด A และ เกรด B ได้รับเงินหมุนเวียนเพิ่มเติมอีกหมู่ บ้านละไม่เกิน 1 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขที่ผ่อนปรน อัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่ต้องนำเม็ดเงินไปใช้อย่างคุ้มค่า ไม่ฟุ่มเฟือย มีแผนงานโครงการชัดเจน ตรวจสอบได้ ซึ่งจะทำให้กองทุนหมู่บ้านในระดับนี้มีความเข้มแข็งมากขึ้น
ทั้งนี้ธนาคารออมสิน ได้พิจารณากองทุนหมู่บ้านที่เป็นฐานลูกค้าเดิมเกรด A และ B เบื้องต้นมี ความพร้อมที่ธนาคารฯ ได้อนุมัติวงเงินสินเชื่อเพื่อสนับสนุนตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับหมู่บ้าน ณ วันที่ 14 ก.ย.58 จำนวน 8,441 กองทุน วงเงิน 8,441 ล้านบาท จากเป้าหมาย 30,000 กองทุน วงเงิน 30,000 ล้านบาท และคาดว่าภายในสิ้นเดือนกันยายนจะสามารถอนุมัติวงเงินได้รวมแล้ว 15,000 กองทุน ซึ่งขณะนี้ผู้บริหารธนาคารออมสิน พนักงาน สาขาของธนาคารฯ ได้ทำงานร่วมกันกับคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านฯ และสมาชิก อย่างเต็มความสามารถ ทำให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบโดยเร็ว โดยจะทยอยจัดประชุมซักซ้อมความเข้าใจ ในแต่ละภูมิภาคเป็นรายเดือนพร้อมเปิดให้สมัครยื่นคำขอกู้เงินควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย และมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ ประสบความสำเร็จโดยเร็ว
อย่างไรก็ตามหลักการกองทุนหมู่บ้าน 8,441 แห่ง ที่ธนาคารออมสินอนุมัติสินเชื่อแล้วสามารถติดต่อสาขาในพื้นที่ได้ทันที ซึ่งธนาคารออมสินจะปล่อยสินเชื่อให้กับสำนักงานกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) และให้ สทบ. ส่งรายชื่อแต่ละกองทุนหมู่บ้านเพื่อให้ธนาคารออมสินโอนเงินโดยตรง สำหรับกองทุนหมู่บ้านฯ ซึ่งเป็นเป้าหมายในการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวนั้น สทบ. เน้นไปที่ 59,850 กองทุน แบ่งเป็นกองทุนเกรด A จำนวน 21,000 กองทุน และเกรด B อีก 38,000 กองทุน วัตถุ ประสงค์หลักในการใช้สินเชื่อเน้นส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ทั้งในลักษณะรายบุคคล และรายกลุ่ม (Cluster) เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงในแต่ละพื้นที่
“ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากโครงการสำคัญ คือ มาตรการการเงินการคลังเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ระยะเร่งด่วน รวม 5 มาตรการ โดยธนาคารออมสินเข้าไปมีบทบาทในส่วนของ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และช่วยเสริมสภาพคล่องให้เอสเอ็มอี
ทั้งนี้ธนาคารออมสินให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่อัตรา 0.1% ต่อปี และธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ ในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี ระยะเวลาให้สินเชื่อ 7 ปี วงเงินรวม 100,000 ล้านบาท และรัฐบาลชดเชยส่วนต่าง อัตราดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารออมสิน โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นขอสินเชื่อภายในวันที่ 31 ธ.ค.58 ทั้งนี้ธนาคารออมสินยังมีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยใช้วงเงินจากโครงการนี้ ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือชาวประมง “ประมงไทยก้าวไกลสู่สากล” โครงการสินเชื่อ SMEs เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการประหยัดพลังงาน โครงการสินเชื่อ SMEs เพื่อธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ โครงการสินเชื่อ SMEs เพื่อผู้รับเหมางานภาครัฐ และโครงการสินเชื่อ SMEs เพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งธนาคารอมสินจะเร่งเปิดให้บริการโดยเร็วต่อไป
“สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารออมสินได้เชิญผู้แทนจากธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินของรัฐที่สนใจเข้าร่วมโครงการมารับทราบรายละเอียด เงื่อนไข วิธีปฏิบัติ ซักซ้อมความเข้าใจ ซึ่งธนาคารออมสินพร้อมที่จะเริ่มปล่อยกู้ได้ หลังจากนี้จะทำหนัง สือเชิญผู้บริหารแต่ละสถาบันการเงินเพื่อร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง MOU) ในงานเปิดแผนปฏิบัติการเอสเอ็มอีอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 ก.ย.ที่เมืองทองธานี ซึ่งจะมีกระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นเจ้าภาพ” นายชาติชาย กล่าว
นอกจากนี้ธนาคารออมสิน ในฐานะสถาบันการเงินเป็นแหล่งทุนสำหรับเศรษฐกิจฐานรากนั้น มีความคืบหน้าในภารกิจดัง กล่าวตามที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ โดยโครงการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ผ่านการให้สินเชื่อโครงการธนาคารประชาชน 4 ประเภท ได้แก่ สินเชื่อประชาชนสุขใจ สินเชื่อออมสุขใจ สินเชื่อรายได้ประจำสุขใจ และสินเชื่อคืนความสุข โดยในภาพรวมของสินเชื่อโครงการธนาคารประชาชนช่วงระหว่างเดือนม.ค.- ส.ค.58 ธนาคารฯ ได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้วจำนวนกว่า 200,000 ราย คิดเป็นเงิน 19,534.63 ล้านบาท ส่วนยอดสินเชื่อคงเหลือ (ณ 31 ส.ค.58) อยู่ที่ 970,412 ราย คิดเป็นเงิน 68,205 ล้านบาท โดยที่ตลอด 14 ปีที่ผ่านมา โครงการนี้สามารถทำให้ประชาชนในระดับผู้มีรายได้น้อยได้รับเงินกู้ในโครงการนี้เพื่อไปประกอบอาชีพ หารายได้เพิ่มได้แล้วรวมจำนวนทั้งสิ้นถึง 4,130,760 ราย คิดเป็นเม็ดเงินจำนวน 235,722 ล้านบาท
ขณะเดียวกันยังมีมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกค้าธนาคารออมสินที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ภาระหนี้ครัวเรือน และภัยธรรมชาติ ด้วยการพักชำระเงินต้น สำหรับลูกค้าที่มีวงเงินกู้รวมไม่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งเปิดลงทะเบียนเมื่อวันที่ 1 เม.ย.–31 ก.ค.58 ปรากฏว่า มีลูกค้าสนใจลงทะเบียน 94,359 ราย คิดเป็นเงิน 43,963 ล้านบาท ซึ่งธนาคารฯ ได้ทยอยอนุมัติไปแล้วรวม 30,471 ราย คิดเป็นเงิน 14,503 ล้านบาท
“ธนาคารออมสิน ตระหนักเป็นอย่างดีว่า ประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อฟันเฟืองของระบบเศรษฐกิจ ต้องได้รับการดูแล และแก้ไขอย่างถูกวิธีในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ซึ่งธนาคารออมสินจะไม่หยุดนิ่งที่จะนำเสนอรูปแบบวิธีการที่จะช่วยบรรเทาภาวะนี้ให้คลี่คลายไปได้ด้วยดี”
ขณะที่นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกร์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวถึงความพร้อมในการอนุมัติเงินสนับสนุนสินเชื่อกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองว่า ธ.ก.ส. มีความพร้อมในการดำเนินการตามโครงการนี้ ซึ่ง ธ.ก.ส. รับผิดชอบจ่ายสินเชื่อให้แก่กองทุนฯ ในวงเงิน 30,000 ล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนธ.ค.นี้ ปัจจุบัน ธ.ก.ส. ดูแลกองทุนฯ ระดับ A และ B จำนวน 20,584 กองทุน จากกองทุนฯ ระดับ A และ B ทั้งหมด 59,062 กองทุน ให้สินเชื่อกองทุนฯ ละไม่เกิน1 ล้านบาท โดยแยกจากวงเงินกู้ปกติของธนาคาร ชำระคืนเสร็จไม่เกิน 7 ปี ปลอดดอกเบี้ย 2 ปีแรก ส่วน 5 ปีต่อไปคิดดอกเบี้ยเท่ากับต้นทุนทางการเงินของธนาคารบวกด้วย 1 ต่อปี%
“ธ.ก.ส. ได้กำหนดหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อไว้อย่างรัดกุม ได้แก่ การมีส่วนร่วมของชุมชนโดยการทำประชาคม การกำหนดให้โอนเงินกู้เข้าบัญชีเงินฝากสมาชิกรายคน การตรวจสอบการดำเนินงานของกองทุนฯ และสุ่มสอบการใช้เงินกู้ของสมาชิก ทั้งนี้สามารถให้สินเชื่อได้ทันทีเมื่อกองทุนผ่านการประชาคม และยื่นเรื่องกู้ต่อธนาคาร”