ทุเรียนดันยอดส่งออกเดือนเม.ย.
กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน เม.ย. โดยการส่งออก มีมูลค่า 18,945.60 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 12.34% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 20,229.0 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว20.36% ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 1,283 ล้านเหรียญฯ ขณะที่ยอดส่งออกทุเรียนเดือนเม.ย.ทะลุแสนตัน
ส่งผลให้ในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) การส่งออกมีมูลค่า 81,775.1 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 11.53% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 81,101.8 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 17.18% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 673.3ล้านเหรียญฯ
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนเม.ย.61 ที่ขยายตัวได้ 12.34% ถือเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 โดยการส่งออกในตลาดสำคัญขยายตัวเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดอินเดีย, ตลาด CLMV, สหภาพยุโรป, ญี่ปุ่น และตลาดจีนที่กลับมาขยายตัวได้ในระดับสูง
ทั้งนี้การส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 โดยสินค้าที่ขยายตัวสูง เช่น รถยนต์และส่วนประ กอบ, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เม็ดพลาสติก และน้ำมันสำเร็จรูป ส่วนการส่งออกสินค้ากลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร กลับมาขยายตัวได้ 9.8% โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น ผัก ผลไม้สดแช่แข็ง กระป๋อง และแปรรูป, ข้าว, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, ไก่สดแช่แข็ง เป็นต้น
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกทั้งปี 2561 คาดว่าจะมีโอกาสจะเติบโตได้เกินกว่าเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ 8% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในตลาดศักยภาพ สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวต่อเนื่อง และราคาน้ำมันที่เริ่มปรับสูงขึ้นส่งผลดีต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งนี้คาดว่าจะมีการทบทวนเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ใหม่อีกครั้งในช่วงกลางปี
“เป้าที่ 8% ณ ตอนนี้ก็เกินแล้ว แต่จะปรับขึ้นเป็นเท่าใดอยู่ในการพิจารณาของผู้ใหญ่ในระดับนโยบาย แต่คาดว่าช่วงครึ่งปีหลัง การส่งออกอาจจะแผ่วลงบ้างซึ่งก็เป็นภาวะปกติ โดยรวมทั้งปีนี้มองว่าเกิน 8%เราขอทบทวนตัวเลขเมื่อผ่านไตรมาส 2 ไปก่อน” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว และกล่าวต่อว่า
สำหรับทิศทางราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มอยู่เหนือระดับ 70 ดอลลาร์/บาร์เรล จากการขยายข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC รวมทั้งอุปทานน้ำมันที่ลดลงจากปัญหาในประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอย่างเวเนซุเอลา และความกังวลต่อการคว่ำบาตรรอบใหม่จากสหรัฐฯ จะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญโดยเฉพาะข้าว มันสำปะหลัง เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ยางพารามีแนวโน้มดีขึ้นแม้ราคายังติดลบ
นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าจะช่วยสนับสนุนการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี และส่งผลดีต่อรายได้จากการส่งออกในรูปเงินบาทอีกทางหนึ่ง แต่ทั้งนี้ผู้ส่งออกควรทำประกันความเสี่ยง เพื่อลดความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงติดตามสถานการณ์การค้าอย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมรับมือ พร้อมทั้งหาโอกาสส่งออกสินค้าที่สามารถแข่งขันได้ภายใต้สถานการณ์ทางการค้าที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
“ตอนนี้การส่งออกในรูปของเงินบาทก็กลับมาเป็นบวกแล้ว แสดงให้เห็นว่าลดแรงกดดันเรื่องบาทแข็งลงได้ แต่เงินบาทก็ยังมีแนวโน้มผันผวนต่อไปอีก เพราะยังมีเงินไหลไปทางฝั่งสหรัฐ จากการที่ดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐเพิ่มขึ้น ซึ่งในเรื่องค่าเงินก็ยังคงต้องติดตามกันต่อไป ผู้ส่งออกก็ควรใช้เครื่องมือที่มีอยู่เพื่อบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน และอย่าประมาท” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว
สำหรับสินค้าดาวเด่นที่มาแรงในเดือนเม.ย.2561 คือ ทุเรียน โดยมีการส่งออกได้เพิ่มมากขึ้น มีปริมาณ 123,000 ตัน มูลค่า 220.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 207.2% เป็นการส่งออกไปจีนเป็นอันดับ 1 ปริมาณ56,000 ตัน มูลค่า 110.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 774.9% รองลงมา คือ เวียดนาม 41,700 ตัน มูลค่า 62.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 25.7% ฮ่องกง 21,000 ตัน มูลค่า 39.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 453.8% ไต้หวัน 3,000 ตัน มูลค่า 5.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 203.0% มาเลเซีย 1,000 ตัน มูลค่า 1.3 ล้านเหรียญสหรัฐ และยอดรวม 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) ส่งออกทุเรียนไปตลาดโลกปริมาณ 148,000 ตัน มีมูลค่า287 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 189.1% และเฉพาะจีน มูลค่า 125.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 531.1% ซึ่งเรียกได้ว่าทุเรียนมาช่วยเพิ่มยอดการส่งออกไปจีนเลยก็ว่าได้ และรัฐบาลน่าจะสนับสนุนให้ใช้การค้าออนไลน์กับผลไม้และสินค้าอื่นๆ เพื่อเพิ่มยอดขายให้ได้เพิ่มขึ้นอีก.