“สมคิด”ยันดันจีดีพีพุ่ง
“สภาพัฒน์” ปรับคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ เติบโต 4.2-4.7% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 4.5% จากเดิมอยู่ใน ช่วงระหว่าง 3.6-4.6% หลังจากไตรมาสแรกปีนี้ เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ถึง 4.8% สูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส หรือ 5 เดือน จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 4.0% “สมคิด” ยันผลงานรัฐบาลล้วนๆ
“เศรษฐกิจไตรมาสแรกโตกว่าที่เราคาดการณ์ ประกอบกับมีการปรับสมมติฐานรายรับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ซึ่งสองปัจจัยนี้ทำให้เราปรับเพิ่มค่ากลางผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้จากเดิม 4.1% เมื่อรอบที่แล้วมาเป็น 4.5% ซึ่งอยู่ในระดับกรอบบนของประมาณการเดิม” นายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงข่าวเมื่อวันที่ 21 พ.ค.2561
สำหรับปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้มาจาก การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก และระดับราคาสินค้าในตลาดโลก ซึ่งจะสนับสนุนให้การส่งออกและการผลิตสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวในเกณฑ์ดี และสนับสนุนเศรษฐกิจภาพ รวมได้อย่างต่อเนื่อง แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐบาลและการลงทุนภาครัฐยังอยู่ในเกณฑ์สูง และมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี
การฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนตามการเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตในสาขาอุตสาหกรรม การเพิ่มขึ้นของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุน ความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐ และการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจ และการปรับตัวดีขึ้นและการกระจายตัวมากขึ้นของฐานรายได้ประชาชนในระบบเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว 8.9% การบริโภคภาคเอกชนและการสะสมทุนถาวรรวมขยายตัว 3.7% และ 4.7% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.7-1.7% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 8.4% ของจีดีพี
นายวิชญายุทธ กล่าวว่า ได้มีการปรับสมมติฐานที่ใช้คาดการณ์จีดีพีของไทยในปีนี้ใหม่ โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยาย ตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.1% ปริมาณการค้าโลกขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.3% สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทในปีนี้ยังมีแนวโน้มปรับตัวแข็งค่าขึ้น โดยปรับสมมติฐานใหม่เป็น 31.50 บาท/ดอลลาร์ จากเดิมที่ประเมินไว้ 32 บาท/ดอลลาร์
นอกจากนี้ ยังคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบในปีนี้จะปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 60-70 ดอลลาร์/บาร์เรล จากของเดิมที่ระดับ 55-65 ดอลลาร์/บาร์เรล รวมทั้งคาดว่ารายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.23 ล้านล้านบาท เพิ่ม ขึ้น 14.6% จากของเดิมที่คาดไว้ที่ 2.18 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ดี มองว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ การลงทุนภาครัฐจะมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น ส่วนการเบิกจ่ายภาครัฐก็มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นเช่นกัน แม้การเบิกจ่ายงบลงทุนในช่วงไตรมาสแรกจะยังไม่สูงมากนักก็ตาม
ส่วนกรณีที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากน้อยอย่างไรนั้น จากผลการศึกษาของหลายหน่วยงาน พบว่าผลกระทบเริ่มมีน้อยลง เนื่องจากประเทศต่างๆ มีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้นจากสถานการณ์ดังกล่าว และในกรณีของประเทศไทยนั้นคงจะไม่ได้มีแต่ผลกระทบเพียงอย่างเดียว เพราะราคาน้ำมันที่สูงขึ้นได้ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันมีราคาเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นแม้ราคาน้ำมันจะปรับสูงขึ้นไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้รุนแรงหรือส่งผลกระ ทบที่น่ากังวลต่อเศรษฐกิจไทยแต่อย่างใด
นายวิชญายุทธ กล่าวว่า จากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นมีแนวโน้มให้ราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ในภาพรวมแล้วคงจะไม่เพิ่มสูงขึ้นมากนัก โดยเชื่อว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากทั้งราคาน้ำมัน และอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อกำลังซื้อโดยรวมของประชาชน ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 1.2% (ค่ากลางของคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้ที่ 0.7-1.7%) ก็ถือว่าอยู่ในกรอบนโยบายการเงินที่ธนาคารแห่งประ เทศไทย (ธปท.) กำหนดไว้ที่ 1-4% ในปีนี้
นายวิชญายุทธ กล่าวว่า ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยจนน่ากังวล หากยังอยู่ในขอบเขตจำกัดตามที่แต่ประเทศได้ประกาศมาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างกันออกมา
อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์ ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจในปีนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ 1.การผลิตภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลังจากฐานที่สูงขึ้น 2.ราคาสินค้า อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างช้าๆ
และ 3.ความเสี่ยงจากความผันผวนในระบบเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นทิศทางนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ และเงื่อนไขทางการเมืองในประเทศที่สำคัญๆ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางที่อาจะกระทบต่อความเชื่อมั่นและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การปรับเปลี่ยนการคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงิน อัตราเงินเฟ้อ ฐานะการคลัง และดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐ และปริมาณพันธบัตรในตลาดโลก
สำหรับประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญในปี 61 นี้ รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับ 1.การสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และเศรษฐกิจฐานราก 2.เตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงานให้เพียงพอต่อการรองรับการขยายตัวของภาคการผลิตและการลงทุน 3.สนับสนุนการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะภาคการส่ออก การลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยว 4.ขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมาย โดยเร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การเบิกจ่ายงบลงทุน และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงจีดีพีไตรมาสแรกของปีนี้ ที่ขยายตัวได้ 4.8%ว่า เป็นผลจากที่รัฐบาลได้ร่วมกับภาคเอกชนทำงานกันมาอย่างหนัก บวกกับ บ้านเมืองอยู่ในภาวะสงบ ทำให้จีดีพีของประเทศขยายตัวได้อย่างมีศักยภาพในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา โดยสามารถขยายตัวไต่ระดับตั้งแต่ 1% 3% 3.3% 3.9% และ 4.8% ในไตรมาสดังกล่าว
“การขยายตัวที่ 4.8% นั้น ถือว่า สูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส หรือ 5 ปี เราใช้เวลา 5 ปีเต็มในการผลักดันเศรษฐกิจ ก็น่าดีใจที่จีดีพีขยายตัวได้ในระดับดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้ประหลาดใจ เพราะเป็นสิ่งที่เราไม่ได้พูด แต่ทำงานหนัก โดยเราไม่ยอมอยู่ภายใต้การรับสภาพเศรษฐกิจโลกว่า เป็นอย่างไร แต่เราได้พยายามทำให้ทุกตัวดีขึ้น ก็น่ายินดี และ อยากให้บ้านเมืองสงบเช่นนี้ เพื่อเดินหน้าปฏิรูปประเทศ”
ทั้งนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจทุกด้านขยายตัวได้ดีหมด อาทิ การลงทุนภาคเอกชน ซึ่งสภาพัฒน์บอกว่า การลงทุนเอกชนสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง 4 ไตรมาส ส่วนภาคเกษตรก็ขยายตัวได้น่าพอใจ เพราะปัญหาภาคเกษตรเป็นปัญหาที่สะสมมานาน ขณะนี้ เริ่มคลายตัวแล้ว แม้จะช้าไปบ้าง แต่รัฐบาลก็พยายาม ด้านการส่งออกก็ขยายตัวได้น่าพอใจ ส่วนการท่องเที่ยวไม่ต้องพูดถึง เพราะขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง
“เมื่อจีดีพีสามารถขยายตัวได้ในระดับดังกล่าว เชื่อว่า ความเชื่อมั่นจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของภาคเอกชน เพราะตัวเลขนี้ จะแสดงให้เห็นว่า รายได้กำลังจะเกิดขึ้น และ โดยเฉพาะหากว่า การลงทุนในโครงการPPP เกิดขึ้นแล้ว ธุรกิจเกี่ยวเนื่องจากโครงการอสังหาริมทรัพย์ก็จะตามมา ทุกอย่างจะเชื่อมกันหมด”.