หอฯค้าไทย-จีนผนึก CCIC-CCPIT ดันสินค้าไทยส่งขายจีน
หอการค้าไทย-จีน ผนึก 2 ตัวแทนจีน “ซี.ซี.ไอ.ซี (ประเทศไทย) – CCPIT” หวังดันสินค้าไทยส่งขายตลาดจีนได้เร็วและง่ายขึ้น เผย! สินค้าไทยโดนใจลูกค้าชาวจีน ยิ่งได้รับการตรวจสอบจากฝ่ายจีน ยอดการค้าระหว่างกันยิ่งเติบโต
นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ปธ.กก.หอการค้าไทย-จีน กล่าวภายหลังพิธีร่วมลงนามเอ็มโอยู กับ นายหลิ่ว หัวลวี่ กก.ผจก.ใหญ่ บจ. ซี ซี ไอ ซี (ประเทศไทย) ว่า เป็นไปเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการขยายการส่งออกของสมาชิกหอการค้าไทย-จีน ไปยังตลาดจีน เนื่องจากรัฐบาลจีนกำหนดให้ต้องทำการตรวจสอบคุณภาพ และตรวจสอบย้อนกลับแหล่งกำเนิดผลิตภัณฑ์สำหรับการส่งออกของสินค้าไทยไปยังประเทศจีน โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ะระบาดไวัรัสโควิด-19
“ข้อตกลงครั้งนี้ ถือเป็นกลไกหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างได้รับผลประโยชน์ (วิน-วิน) และหากไม่มี ซี ซี ไอ ซี (ประเทศไทย) แล้ว สินค้าไทย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรอาจต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานจากทางการจีนยาวนาน จนอาจทำให้สินค้าบางตัวได้รับความเสียหาย (เน่าเสีย) ได้” นายณรงค์ศักดิ์ ระบุ
ที่ผ่านมาจีนถือเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยติดต่อกันกว่า 8 ปี แม้ปี 2563 จะมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก แต่ภาวการณ์ค้าระหว่างไทยกับจีนยังขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย มีมูลค่ารวม 7.96 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 18.16% ของมูลค่าการค้ารวมของไทย โดยการส่งออกสินค้าของไทยไปตลาดจีน มีมูลค่า 2.9754 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเฉลี่ย 2% โดยจากนี้ รัฐบาลไทยคาดหวังจะเห็นมูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มสูงเป็น 1.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งบทบาทของ ซี ซี ไอ ซี (ประเทศไทย) ถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างมาก
โดยปี 2563 ไทยได้ส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งไปยังประเทศจีน คิดมูลค่า 2.908 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 39.43%โดยเฉพาะสินค้าทุเรียนสดรายการเดียว มีมูลค่าถึง 1,508 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 77.57% ซึ่งถือว่าสูงมาก นั่นเป็นเพราะมีการตรวจสอบคุณภาพและตรวจสอบย้อนกลับแก่ผู้ส่งออกทุเรียนไทย
“การปฏิบัติตามข้อกำหนดในการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจดทะเบียนผู้ส่งออกผักและผลไม้ รวมทั้งการขอและออกใบรับรองสุขอนามัย และข้อกำหนดเฉพาะสำหรับผลไม้บางชนิด จึงมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง” นายณรงค์ศักดิ์ ย้ำ
ด้าน นายหลิ่ว หัวลวี่ กล่าวว่า ซี ซี ไอ ซี (ประเทศไทย) ถือเป็นบริษัทร่วมทุนกับฝ่ายไทย ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทยกว่า 30 ปี โดยเป็นหน่วยงานสาขาขององค์กรตรวจสอบและรับรองแห่งชาติจีน (หรือ CCIC) คอยทำหน้าที่ในการให้บริการตรวจสอบคุณภาพ และตรวจสอบย้อนกลับแหล่งกำเนิดผลิตภัณฑ์สำหรับการส่งออกของสินค้าไทยไปยังประเทศจีน โดยใช้การตรวจสอบนอกสถานที่ การตรวจสอบผลิตภัณฑ์ และการตรวจสอบโรงงาน เพื่อระบุแหล่งที่มา คุณภาพ และลักษณะเฉพาะของผลิตภัณฑ์ ดำเนินการประเมินและตรวจสอบประเภทบุคคลที่สาม และใช้ระบบคลาวน์ตรวจสอบย้อนกลับสินค้าทั่วโลกขององค์กร CCIC สนับสนุนด้านเทคนิค เพื่อตอบสนองการค้นหาข้อมูล และการตรวจสอบย้อนกลับของแหล่งที่มาสินค้า
“ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ภายใต้สถานการณ์ของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลก หน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาลจีนได้กำหนดให้อาหารหรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่นำเข้าที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดจีน ต้องสามารถตรวจสอบแหล่งที่มา และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ มิฉะนั้นจะไม่สามารถขายในตลาดได้ ด้วยเหตุนี้ โรงงานบรรจุภัณฑ์ผลไม้ของไทยหลายแห่ง จึงเลือกใช้บริการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งกำเนิดของบริษัท CCIC (ประเทศไทย) โดยสมัครใจ เพื่อสร้างความไว้วางใจให้กับหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาลและผู้บริโภคจีน และในอีกด้านหนึ่ง ยังสามารถป้องกันการสวมสิทธิ์หรือการปลอมแปลงของผลไม้จากประเทศอื่นว่าเป็นผลไม้ของไทยและส่งออกไปยังประเทศจีนอย่างผิดกฎหมาย” กก.ผจก.ใหญ่ ซี ซี ไอ ซี (ประเทศไทย) กล่าว และว่า
ปีที่ผ่านมา ซี ซี ไอ ซี (ประเทศไทย) ได้ให้บริการตรวจสอบย้อนกลับให้กับการส่งออกทุเรียน มังคุด และลำไยไปยังประเทศจีนรวมกันกว่า 8 พันล้านบาท ทั้งนี้ แม้บริษัทฯ จะได้รับค่าบริการผ่านการติดบาร์โค้ดให้กับตัวสินค้าไทยที่ส่งออกไปประเทศจีน จนมีรายได้ในปีที่ผ่านมาราว 100 ล้านบาท แต่กำไรจากการดำเนินงานถือว่ามีน้อยมาก เพราะบริษัทฯคิดอัตราค่าบริการกับสินค้าไทยต่ำมาก เมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่นๆ นั่นเพราะหน่วยงานต้นสังกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน คอยให้การสนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อให้สินค้าที่ส่งออกไปยังประเทศจีน มีมาตรฐานคุณภาพที่สูง ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ต่อสินค้าไทยเอง เพราะจะทำให้ใช้เวลาในการตรวจสอบคุณภาพเร็วขึ้น และตัวสินค้าได้รับความน่าเชื่อจากผู้บริโภคชาวจีนมากขึ้น
นอกจากนี้ หอการค้าไทย-จีน ยังได้ลงนามเอ็มโอยูกับ สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งประเทศจีน (CCPIT) ซึ่งจากภาวะโควิดฯ ทำให้ นาย H.E. Gao Yan ปธ. CCPIT ไม่สามารถเดินทางมาร่วมลงนามได้ แต่ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง และจัดส่งมาให้ทางฝ่ายไทย ได้ลงนามฯ เพื่อให้เอ็มโอยู มีผลตามข้อตกลงร่วมกัน
ในโอกาสเดียวกันนี้ นายหวัง ลี่ ผิง อัครราชทูตที่ปรึกษาด้านพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย นายหวาง หงเหว่ย ปธ.กก.ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) จำกัด นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายวีระพงษ์ มาลัย ผอ.สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) นายวัฒนศักดิ์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และ นายณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน ผจก.ใหญ่ บริษัท NC Coconut จำกัด ในฐานะ ตัวแทนผู้ส่งออกผลไม้ไทย รวมถึงสมาชิกหอการค้าไทย-จีนร่วมในงานพิธีดังกล่าว
อนึ่ง หอการค้าไทย-จีน หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทางบริษัท ซี ซี ไอ ซี (ประเทศไทย) จำกัด จะใช้ประโยชน์จากความคุ้นเคยและความเชี่ยวชาญ ในนโยบายการค้าระหว่างประเทศของจีน ทั้งการนำเข้าและการส่งออก รวมถึงเทคโนโลยีการตรวจสอบสินค้าที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้คำปรึกษาและบริการแก่สมาชิกหอการค้าไทย-จีน สามารถขยายการส่งออกสู่ตลาดจีนได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น เพื่อเป็นกลไกของบุคคลที่สามในการขับเคลื่อนสนับสนุนการขยายความสัมพันธ์ทางการค้าไทย-จีน ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น.