คสช.อุ้มทีวีดิจิทัล
คสช.จ่อใช้มาตรา 44 อุ้มทีวีดิจิทัล วาง 3 แนวทางช่วยเหลือ ทั้งพักหนี้-โอนใบอนุญาต พร้อมสั้งกสทช.จ่ายค่าเช่าโครงข่ายที่เช่าสัญญาณ 50% เป็นเวลา 24 เดือน พร้อมเบรกการแต่งตั้งคณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2561 มีข้อสรุปเรื่องมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 3 ประการ
1.อนุญาตให้ผู้ประ กอบการทีวีดิจิทัลพักชำระหนี้ได้ 3 งวด ในการชำระเงินงวดที่เหลือของปี 2561-2565 เพื่อให้ผู้ประกอบการมีแรง มีกำลังเงินไว้ดำเนินธุรกิจต่อไป แต่ในระหว่างที่พักชำระหนี้จะต้องจ่ายดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1.50% ต่อปี
2.คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะช่วยเหลือในเรื่องค่าโครงข่ายที่เปลี่ยนจากระบบอนาล็อคมาเป็นระบบดิจิทัลให้แก่ผู้ให้เช่าโครงข่าย ได้แก่ บมจ.อสมท.,ช่อง 5 และไทยพีบีเอส ในอัตรา 50% เป็นเวลา 2 ปี โดยที่เหลืออีก 50% ผู้ประกอบการเป็นผู้ชำระเอง
และ3.อนุญาตให้โอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจทีวีดิจิทัลได้ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายอื่นที่สนใจได้เข้ามาดำเนินธุรกิจนี้ในอนาคต โดยจะต้องมีการหารือในรายละเอียดกับ กสทช.เป็นรายๆไป เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกและผู้ประ กอบการรายใหม่จะต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับผู้เข้าประมูล
“ที่ คสช.เปิดโอกาสให้ทั้ง 3 ประการนี้ ทุกคนในที่ประชุมต่างเห็นตรงกันว่าช่วยตอบโจทย์ และมีความเหมาะสมในการแก้ปัญหาทีวีดิจิทัล โดยไม่ทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ และยังเป็นการให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมและเท่าที่จำเป็น” พล.ท.สรรเสริญ กล่าวและกล่าวว่า
ทั้งนี้ คสช.จะมีการออกคำสั่งตามมาตรการดังกล่าวภายในเดือน พ.ค.นี้ เนื่องจากจะถึงกำหนดที่จะต้องชำระเงินงวดต่อไปในช่วงกลางเดือน พ.ค.2561
ส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคมนั้น ในวันนี้ยังไม่ข้อสรุป เนื่องจากเห็นว่ามีเนื้อหารายละเอียดที่แตกต่างจากกรณีของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ในที่ประชุม คสช.มีการพูดคุยมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลและโทรคมนาคมที่เหมาะสมโดยต้องแยกการดูแลทีวีดิจิทัลและคลื่นความถี่ออกจากนั้น ภายใต้การพิจารณาประเด็นปัญหาความเดือดร้อน ความพร้อมหรือไม่พร้อมของระบบ ซึ่งต้องมีวิธีการแก้ไข
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยืนยันว่าประเทศต้องไม่เสียประโยชน์ และจะต้องไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับใคร
“รัฐบาลนี้เข้ามาแก้ปัญหา เราเห็นใจภาคธุรกิจ แต่เมื่อมีปัญหา รัฐบาลก็พยายามหามาตรการที่เหมาะสม” นายกรัฐมนตรี กล่าวในท้ายที่สุด.
ในวันเดียวกัน (24เม.ย.) พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบการออกคำสั่ง ม.44 ให้ยกเลิกกระบวนการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดใหม่ และให้ระงับการสรรหาไว้จนกว่าหัวหน้า คสช.จะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
นอกจากนี้ให้ คณะกรรมการ กสทช. ชุดปัจจุบัน ยังคงดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ตามความจำเป็นไปพลางก่อน โดยระหว่างนี้หากมีกรรมการคนใดต้องพ้นจากตำแหน่ง ก็ให้กรรมการที่เหลือปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยังไม่สามารถสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งคณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ได้ หลังจากการประชุมเมื่อสัปดาห์ก่อนลงมติไม่คัดเลือกตามรายชื่อที่กรรมการสรรหาเสนอมา 14 รายชื่อ เพราะเห็นว่าบางรายชื่ออาจมีปัญหาด้านคุณสมบัติ