ส่งออกเดือน มี.ค. โต 7.06%
พาณิชย์ เผยตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน มี.ค.61 มีมูลค่า 22,362.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 7.06% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 21,094.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 9.47% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 1,268.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า การส่งออกของไทยในเดือนมี.ค.2561 มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 22,363 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยการส่งออกขยายตัวได้ดีในทุกตลาดสำคัญ โดย เฉพาะตลาดอินเดีย อาเซียน 5 ประเทศ และ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม) และสหรัฐฯ มีการขยายตัวในระดับสูง สำหรับการส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 โดยสินค้าที่มีการขยายตัวในระดับสูง ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก และแผงวงจรไฟฟ้า ขณะที่การส่งออกสินค้ากลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวครั้งแรกในรอบ 16 เดือน ที่ 3.3% โดยมีสาเหตุหลักมาจากการหดตัวของยางพารา และน้ำตาลทราย ขณะที่สินค้าที่ยังขยายตัวดี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าว ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป
ในขณะที่การส่งออกไปตลาดจีนลดลง 8.7% เนื่องจากผลกระทบของฐานที่สูงในปีก่อนหน้า ตลอดจนการลดลงของการส่งออกยางพาราตามราคาในตลาดโลกที่ลดลง
“ตลาดจีนที่ส่งออกลดลง 8.7% เป็นผลจากสินค้าบางกลุ่มที่ลดลงไปเยอะ เช่น สินค้าเครื่องจักรกล และยางพารา แต่ทั้งนี้ สนค.ได้มีการพิจารณาแล้ว พบว่าไม่ใช่ผลกระทบที่เกิดจากปัญหาสงครามการค้าแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะประเทศจีนสามารถผลิตสินค้าดังกล่าวได้เองมากขึ้น จึงลดการนำเข้าจากต่างประเทศลง ดังนั้นประเด็นนี้จึงไม่ได้น่ากังวล” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว
ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 โดยสินค้าที่ขยายตัวในระดับสูง ได้แก่ เครื่องคอม พิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, น้ำมันสำเร็จรูป, เม็ดพลาสติก และแผงวงจรไฟฟ้า ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 16 เดือน โดยมีสาเหตุหลักมาจากการลดลงของสินค้ายางพารา และน้ำตาลทราย ในขณะที่สินค้าที่ยังขยายตัวดี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, ข้าว, ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป
ส่งผลให้ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 61 (ม.ค.-มี.ค.) การส่งออกมีมูลค่า 62,829.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 11.29% และ นำเข้ามีมูลค่า 60,872.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 16.16% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 1,956.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
การส่งออกไทยในไตรมาสที่ 1 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 ปี โดยตลาดส่งออกที่ขยายตัวในระดับสูงได้แก่ อินเดีย เอเชียใต้ ญี่ปุ่น รัสเซีย และเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States หรือCIS) สำหรับแนวโน้มการส่งออกไทยในไตรมาสที่ 2 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจส่งออกที่อยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบ 15 ไตรมาส อยู่ที่ 69.8 และดัชนีคาดการณ์ความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกที่อยู่ในระดับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ 68.4 โดยสินค้าสำคัญที่คาดว่าจะมีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำตาลทราย และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในเกณฑ์ดี และมีการกระจายตัวมากขึ้น โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศยูโรโซนขยายตัวได้ดีจากการบริโภคภายในประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่น จีน และหลายภูมิภาคในเอเชีย ขยายตัวได้ดีจากการส่งออก และการผลิตภาคอุตสาหกรรม
สำหรับการส่งออกในช่วงที่เหลืออีก 3 ไตรมาสของปีนี้จะยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยสำคัญคือประเทศที่เป็นตลาดหลัก และตลาดรองในการส่งออกของไทยยังมีการเติบโตได้ดี จึงยังมีความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้สินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้นตาม
อย่างไรก็ดี จากการที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น ทำให้กระทรวงพาณิชย์จะมีการปรับสมมติฐานในส่วนของราคาน้ำมันดิบที่ใช้อ้างอิงในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อ และการส่งออกทั้งปีใหม่ จากเดิมที่ตั้งสมมติฐานไว้ที่ 60 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ทั้งนี้ คาดว่าจะไม่มีผลต่อเป้าหมายการส่งออกของไทยในปีนี้ที่ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าหมายไว้ที่ 8%
“ส่งออกในช่วง 3 ไตรมาสที่เหลือนี้ คาดว่าจะยังเติบโตได้ต่อเนื่อง เรายังคงเป้าหมายที่ 8% ซึ่งแต่ละเดือนต้องเฉลี่ยโตอย่างน้อย 7% หรือที่มูลค่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 21,000 ล้านดอลลาร์” ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ
นอกจากนี้ ทิศทางราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มอยู่เหนือระดับ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ตามอุปสงค์โลก และการขยายข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มผู้ผลิต OPEC และ Non-OPEC (จากเดิมที่ทำข้อตกลงรายปีไปเป็นข้อตกลงระยะยาว) จะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลดีต่อมูลค่าการส่งออก
อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินบาท และมาตรการกีดกันทางการค้า ที่นอกจากจะกระทบต่อการส่งออกไปยังตลาดที่เป็นคู่ขัดแย้งแล้ว ยังอาจส่งผลในวงกว้างไปยังตลาดอื่นๆ ที่เป็นตลาดรองรับการส่งออกสินค้าที่ถูกกีดกันในตลาดคู่ขัดแย้งอีกด้วย ดังนั้นผู้ส่งออกต้องเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยง กระจายสินค้าไปยังตลาดใหม่ ทำประกันความเสี่ยงในหลากหลายรูปแบบเพื่อลดความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับกระทรวงพาณิชย์อย่างสม่ำเสมอ
“แม้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จากที่ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปีนี้จะเติบโตสูงสุดในรอบ 13 ปี อีกทั้งยังมีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายนั้น แต่ก็คงจะไม่ทำให้เงินบาทของไทยปรับอ่อนค่าลงไปมากนัก โดยคาดว่าเงินบาทจะอยู่ในช่วง 31 บาทกว่า/ดอลลาร์ ไปอีกระยะ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อรายได้ของผู้ส่งออกอยู่บ้าง
ส่วนสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าในช่วงที่ผ่านมานั้น ยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อมูลค่าการค้าชายแดนโดยตรง เนื่องจากการทำการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่นั้นจะใช้สกุลเงินบาทเป็นหลัก ดังนั้นเมื่อสินค้าไทยที่เป็นสกุลเงินบาทและแปลงมาเป็นสกุลเงินของประเทศเพื่อนบ้านแล้วจะทำให้สินค้าไทยมีราคาแพงขึ้น ซึ่งจากข้อมูลการค้าชายแดนล่าสุดในเดือนมี.ค. พบว่า มูลค่าการส่งออกลดลง 5.89%