“บิ๊กป้อม” สั่งเร่ง ผลิตน้ำจืดจากทะเล ป้อน EEC
บิ๊กป้อม สั่งการ เร่งศึกษาการผลิตจืดจากทะเล มั่นใจ EEC ไม่ขาดน้ำ พร้อม สร้างเขื่อนใต้น้ำ ป้องกันน้ำเค็มรุกล้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา
พลเรือเอก พิเชฐ ตานะเศรษฐ ประธานอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) เผยผลการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำ EEC ว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางและกำหนดมาตรการการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2564 ซึ่งทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช.ยืนยันว่าปีนี้ประมาณน้ำเพียงพอต้องความต้องการแน่นอน จากการบริหารจัดการที่ดีของแต่ละพื้นที่ หากพื้นที่ใดมีน้ำน้อยก็ต้องผันน้ำจากพื้นที่อื่นเข้ามาบริหารจัดการให้เกิดความสมดุล และติดตามการดำเนินงานโครงการต่างๆในการแก้ปัญหาภัยแล้ง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายนนี้
ส่วนเรื่องคุณภาพน้ำ ได้มีการหารือถึงแนวแก้ปัญหาอย่างไร ร่วมกับ ประปาภูมิภาค ชลประทาน และอีสท์วอเตอร์ และได้เชิญ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล มาหารือการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรนอกชลประทาน มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ เพื่อนำแนวทางมาหารือในการประชุมครั้งต่อไป
ที่ผ่านมา คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)ที่มีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้สั่งการให้เร่งสร้างความมั่นใจให้กับภาคอุตสาหกรรม ที่จะเข้ามาลงลงทุนในพื้นที่อีอีซี ว่าจะมีน้ำใช้อย่างพอเพียง ซึ่งประเด็นหนึ่งที่นำมาหารือคือการผลิตน้ำจืดจากทะเล เพราะที่ผ่านมาทั่วโลก ก็ได้เริ่มนำน้ำทะเลมาเปลี่ยนเป็นน้ำจืดเพื่อการอุปโภคบริโภคกันบ้างแล้ว
“อย่างเช่นที่ ประเทศสิงคโปร์ ที่มีปัญหาเรื่องน้ำจืดมาก จึงมีการแก้ปัญหาโดยเปลี่ยนน้ำเค็มเป็นน้ำจืด ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้ทั้ง คุณภาพและปริมาณ ตัวอย่างนี้ทางคณะทำงานที่มีนายสําเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการ สทนช. ประธาน ก็ได้ศึกษาเทคโนโลยีการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลแล้ว ทั้งของ ฝรั่งเศษ เกาหลีใต้ อิสราเอล ออสเตรีย ซึ่งได้ศึกษาความเป็นไปได้ทั้งระบบ ตั้งแต่ ที่ตั้ง ขบวนการนำน้ำทะเลมาผลิต งบประมาณ และอัตราค่าน้ำ เป็นต้น ” พลเรือเอก พิเชฐ กล่าว
และขณะนี้ทาง อีอีซี และ สทนช.ได้มีการหารือกันว่าจะต้องเดินหน้าให้ได้ อาจจะต้องใช้เวลาศึกษาประมาณ 6-8 เดือนขึ้นไป หลังจากศึกษาเสร็จก็จะมีการกำหนดTOR ซึ่งในปี 67 ในแผนงานนี้จะต้องเกิดขึ้นในอีอีซี แต่จะเกิดขึ้นที่ไหน อย่างไรก็ต้องศึกษาความเหมาะสมต่อไป เพื่อไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และประชาชน จะเป็นที่ มาบตาพุด แหลมฉบัง พัทยา หรือไม่ก็ต้องขึ้นอยู่กับผลการศึกษา
นอกจากนั้นยังได้หารือถึงการจัดตั้งองค์กร หรือ สถาบัน ขึ้นมาบริการจัดการ เรื่องคุณภาพของน้ำ เพื่อให้เกิดความมั่นใจ เพราะลุ่มน้ำ ภาคตะวันออก บางประกง ปราจีน มีบทบาทสำคัญในอนาคต แต่ความต้องการใช้ต่างกัน ทำอย่างไรความขัดแย้งจะลดลง ดังนั้นจึงต้องมีองค์กรมาดูแล
ส่วนปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่แก้ปัญหาด้วยการผันน้ำจาก เขื่อนภูมิพล เขื่อน สิริกิต์ ซึ่งปีที่แล้วนำน้ำมาจากเขื่อน ศรีนครินทร์ มาไล่น้ำเค็มที่แม่เจ้าพระยา เป็นจำนวนมากถึง 300 ล้าน ลบ.ม.นั้น ก็ได้หารือกันว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรเพื่อไม่ให้สูญเสียน้ำจำนวนมาก จะสร้างเขื่อนใต้น้ำ หรือ ทำประตูเปิด-ปิด แม่น้ำเจ้าพระยา หรือแม่น้ำต่างๆได้หรือไม่ เพื่อแก้ปัญหาซ้ำซากที่เกิดขึ้นทุกปีได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ระดมความคิดร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป