“ธนารักษ์” จับเข่าคุย “บขส.” สรุปโครงการที่ดินหมอชิต
“บิ๊กหยิม” พร้อมหารือบริษัท ขนส่ง จำกัด เร่งสรุปโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุหมอชิด มูลค่า 26,000 ล้านบาท จะดำเนินการต่อไปหรือไม่ ขณะนี้ โครงการใหญ่อื่น ๆ ของกรมฯ ที่ค้างมานานกว่า 20 ปี คือ การก่อโรงแรมขนาดใหญ่ บริเวณศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และโครงการร้อยชักสาม รวม 2,600 ล้านบาท
“ในสัปดาห์หน้ากรมธนารักษ์ จะหารือกับบริษัทขนส่ง จำกัด หรือ บขส.เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน ที่จะดำเนินการโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุหมอชิตต่อไปหรือหยุดดำเนินโครงการนี้ ภายหลังจากโครงการดังกล่าวไม่ความคืบหน้ามานานกว่า 20ปี” นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวและกล่าวว่าความเสียหายของโครงการดังกล่าว ไม่สามารถประมวลออกมาเป็นตัวเลขได้ แต่ที่เรา (กรมธนารักษ์) ต้องการทราบ บขส.มีความต้องการที่ย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2 กลับมายังหมอชิตเก่าหรือไม่
ทั้งนี้ โครงการขนาดใหญ่ของกรมธนารักษ์ที่เป็นมหากาพย์ ไม่สามารถปิดโครงการได้ในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ประกอบ ด้วย 1.โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุหมอชิต 2.โครงการก่อสร้างโรงแรมศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และ 3.โครงการพัฒนาที่ดินแปลง “โรงภาษีร้อยชักสาม” ซึ่งปัจจุบันกรมธนารักษ์ได้ผลักดันให้ 2 ใน 3 โครงการ สามารถเริ่มต้นและเดินหน้าต่อไปแล้ว จำนวน 2 โครงการคือ โครงการก่อสร้างโรงแรมศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีมูลค่า 8,000-12,000 ล้านบาท และโรงภาษีร้อยชักสาม (ก่อสร้างโรงแรมหรูระดับ 5-6 ดาว) มูลค่า 2,600 ล้านบาท รวมแล้ว ประมาณ 18,600 ล้านบาท
“โครงการขนาดใหญ่ที่คั่งค้าง หรือยังก่อสร้างไม่เสร็จ หากสามารถไฟเขียวให้ดำเนินการต่อไปได้ เราเชื่อมั่นว่า จะช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างแน่นอน” อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าว
ขณะที่ โครงการหมอชิต มีการลงนามในสัญญาก่อสร้างเมื่อปี2538 มีมูลค่า 18,000 ล้านบาท แต่หากนำมาเปรียบเทียบเป็นปัจจุบันแล้ว มูลค่าของโครงการจะพุ่งขึ้นไปถึง 26,000 ล้านบาท หากมีการลงทุนใหม่อีกครั้ง
เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา กรมธนารักษ์ได้เชิญสื่อมวลชน สำรวจที่ราชพัสดุแปลงโรงภาษีร้อยชักสาม เพื่อเนรมิตเป็นโรงแรมหรู ซึ่งตั้งอยู่บนที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท.043314 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซอยเจริญกรุง 36 ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร
สำหรับที่ราชพัสดุและประวัติของ “โรงภาษีร้อยชักสาม” มีความเป็นมานับตั้งแต่ไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาบาวริงกับรัฐบาลอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ.1855 ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นการเปิดประตูการค้ากับประเทศตะวันตกมีผลให้ไทยต้องจัดตั้ง ศุลกสถาน (CUSTOMS HOUSE) หรือโรงภาษีขึ้นเพื่อจัดเก็บภาษีขาเข้าในอัตราร้อยละสาม (ร้อยชักสาม) และภาษีขาออกตามที่ระบุไว้ท้ายสัญญา ในราวปีพ.ศ. 2427 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ริเริ่มโครงการก่อสร้างกลุ่มอาคารศุลกสถานเพื่อแก้ปัญหาเรื่องสินค้าหนีภาษีและการจัดเก็บภาษีได้ไม่ทั่วถึง ซึ่งออกแบบโดยโยอาคิม แกรซี(Joachim Grassi) สถาปนิกผู้ถือสัญชาติฝรั่งเศส
โดยในอันดับแรกได้สร้างอาคารใหม่ขึ้นสองหลังขนาบบ้านเดิมของพระยาอาหารบริรักษ์ตึกแบบจีนที่ใช้เป็นโรงภาษีมาแต่เดิมเป็นอาคารยาวสูงสองชั้น วางผังตั้งฉากกับแม่น้ำเจ้าพระยา อาคารด้านทิศเหนือเป็นที่ทำการภาษีขาเข้าขาออก หลังด้านทิศใต้เป็นที่ทำการภาษีข้าวและที่ทำการไปรษณีย์ ต่อมาในราวปี พ.ศ. 2430 ได้รื้ออาคารเก่าแบบจีนตรงกลางลงแล้วสร้างอาคารใหม่ขึ้น ในช่วงปี 2431 – 2433 เป็นอาคารศุลกสถาน ซึ่งเป็นที่ทำการของกรมศุลกากรตั้งแต่สร้างเสร็จจนถึง พ.ศ.2492 กรมศุลกากรจึงย้ายไปอยู่ที่คลองเตย
ต่อมาในปีเดียวกัน ได้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์เป็นที่ทำการตำรวจน้ำและสถานีตำรวจดับเพลิงบางรัก และเนื่องจากที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสามซึ่งใช้ประโยชน์เป็นที่ตั้งสถานีดับเพลิง บางรักและตำรวจน้ำ เป็นที่ราชพัสดุที่มีศักยภาพสูงมาก และมีอาคารโบราณสถานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โดย บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด ได้รับสัปทานในการเช่าและใช้พื้นที่ราชพัสดุแปลงนี้ เป็นระยะเวลา 30 ปี นับตั้งแต่ปี4562
ขณะที่ โครงการก่อสร้างโรมแรมศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด บริษัทในเครือของ นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้เช่าที่ดินรายเดิม ซึ่งดูแลศูนย์ประชุมฯ ยอมรับเงื่อนไขใหม่และได้ดำเนินการลงทุนก่อสร้างโรงแรมตามแผนงานที่วางเอาไว้ และล่าสุด คาดว่า จะต้องใช้เงินในการลงทุนประมาณ 12,000 ล้านบาท จากเดิมที่จะใช้เงินทุน 8,000 ล้านบาท
สำหรับโครงสร้างพัฒนาที่ดินราชพัสดุหมอชิตนั้น ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างไร หลังจากบริษัทที่ชนะการประมูลคือ บริษัท ซันเอสเตท ของเสี่ยน้ำ หรือ นายน้ำ มหฐิติรัฐ ได้ยุติการสร้าง ซึ่งต่อมาไปเปลี่ยนชื่อจากบริษัท ซันเอสเตรท เป็นบริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด