สรรพสามิตเร่งคลอดโครงสร้างภาษีฯใหม่ เน้นถ่วงดุล 4 กลุ่ม
กรมสรรพสามิต เผย! โครงสร้างภาษีฯใหม่ ดูแลครบทั้ง 4 ปัจจัยหลักอย่างเท่าเทียม มั่นใจ! ระบบภาษีสรรพสามิตใหม่ ช่วยลดสินค้าหนีภาษีได้แน่ ยอมรับจัดเก็บรายได้ปี’64 อาจตกไปบ้าง แต่การเพิ่มประสิทธิภาพและสกัดสินค้าเถื่อน รายได้คงไม่ตกเยอะ
นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวถึงความคืบหน้าของการปรับ โครงสร้างภาษีสรรพสามิต ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกกระทรวงการคลังไปบ้างแล้ว โดยเตรียมเสนอไปยังกระทรวงคลัง และ ครม.ได้พิจารณาในเดือนมีนาคมนี้ ทั้งนี้ โครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ จะเน้นการลดแรงจูงใจในการลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมาย ซึ่งหลักการโครงสร้างภาษีใหม่ จะคำนึงถึง 1.ผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ 2.ผลกระทบต่อสุขภาพ 3.ลดแรงจูงใจในการหลีกเลี่ยงภาษีนำสินค้าเถื่อนเข้าประเทศ และ 4.ไม่กระทบต่อรายได้ภาครัฐ
“เกณฑ์พิจารณาปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่นั้น จะพยายามทำให้ทุกกลุ่มได้รับผลประโยชน์ถัวเฉลี่ยเท่าๆ กัน โดยไม่อิงกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดโดยเฉพาะ” นายลวรณ ระบุและยอมรับว่า
ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ประมาณการจัดรายได้ภาษีกรมสรรพสามิตในปีนี้ ต่ำกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณที่ตั้งไว้ 5.3 แสนล้านบาท เนื่องจากเป็นการคาดการณ์รายได้ตามอัตราการขยายตัวของจีดีพีเดิมที่ร้อยละ 4-5 แต่ปัจจุบันจีดีพีถูกปรับประมาณการใหม่เหลือเพียงร้อยละ 2.8 เท่านั้น ซึ่งทำให้ต้องปรับลดประมาณการรายได้กันใหม่ ส่วนจะเป็นเท่าใด คงต้องหารือกับทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม จากการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ และการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยในการทำงาน รวมถึงการทำงานเชิงรุกในด้านการป้องกันและปราบปรามฯ เชื่อว่ารายได้ในปีนี้อาจลดลงไม่มากนัก
สำหรับรายได้หลักในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มาจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์และเบียร์ในจำนวนที่สูง เนื่องจากช่วงปลายปีที่ผ่านมา มีการจัดงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป และกิจกรรมส่งเสริมการขาย (โปรโมชั่น) แรงๆ ที่มีส่วนช่วยสร้างยอดขายรถยนต์ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ยอดขายรถยนต์ในช่วงที่ผ่านมามีสูง นอกจากนี้ จากประสบการณ์ที่รัฐบาลเคยประกาศ “ล็อกดาวน์” ก่อนหน้านี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ผู้คนจึงหาซื้อเบียร์กักตุน ทำให้ปริมาณการขายเพิ่มมากขึ้น โดยสินค้าทั้ง 2 ชนิดมีผลต่อการจัดเก็บรายได้ของกรมฯอย่างมาก.