คลังจ่อลงทะเบียน “คนละครึ่ง” รอบใหม่ 1 ล.สิทธิ 20 ม.ค.นี้
คลังขานรับนโยบายรัฐบาล เร่งเดินเครื่อง 4 มาตรการเศรษฐกิจสู้วิกฤตโควิดฯ เผย! 19 ม.ค.นี้ เตรียมชง ครม. พิจารณาเปิดลงทะเบียนคนละครึ่งเฟส 2 รอบใหม่ รวมกับส่วนเหลือจากเฟสแรก ราว 1 ล้านสิทธิ พ่วงจ่ายเงินเยียวยา 3,500 บาท 2 เดือน ด้าน “อาคม” คาด 20 ม.ค.เปิดลงทะเบียนคนละครึ่งรอบใหม่ และได้ใช้จริง 25 ม.ค.นี้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง พร้อมด้วย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง และ ผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ร่วมแถลงข่าวถึงมาตรการในการช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ะระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ โดย รมว.คลัง ระบุว่า จากการหารือกับนายกรัฐมนตรีระหว่างร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 ม.ค.2564 มี 4 มาตรการที่กระทรวงการคลังจะดำเนินการจากนี้ ประกอบด้วย
1.การเปิดให้มีการลงทะเบียนโครงการคนละครึ่งเฟส 2 รอบที่ 2 โดยมีบางส่วนที่เหลือจากเฟสแรก รวมกว่า 4 แสนสิทธิ (คน) และจากเฟส 2 ที่จะทราบภายหลังวันที่ 14 ม.ค.ว่า มีเหลือจากการไม่ใช้สิทธิภายใน 14 วัน อีกเท่าใด ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่าน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 5 แสนสิทธิ (คน) เนื่องจากจนถึงขณะนี้ มีผู้สิทธิในโครงการคนละครึ่งเฟส 2 ไปแล้วประมาณ 3.8 ล้านคน ที่เหลือยังต้องรอดูว่าในอีก 2 วันจากนี้ จะมีผู้สิทธิในเฟส 2 กี่คน และเหลือกี่คน ที่จะนำไปรวมกับส่วนที่เหลือในเฟสแรก
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในวันอังคารที่ 19 ม.ค.นี้ เพื่อขอความเห็นชอบนำสิทธิส่วนที่เหลือจากเฟสแรก และเฟส 2 มาเพื่อให้มีการลงทะเบียนรอบใหม่ คาดว่าจะเปิดให้ลงทะเบียนได้ในวันที่ 20 ม.ค. และให้ใช้สิทธิได้ในวันที่ 25 ม.ค.นี้
2.มาตรการเยียวยารายได้ 3,500 บาทเป็นเวลา 2 เดือน (มาตรการเราชนะ) ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ครอบคลุมคนทุกกลุ่มที่อยู่ในข่ายจะได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งระหว่างนี้ กระทรวงการคลังจะหารือถึงมาตรการกลั่นกรองคนที่จะได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการนี้ ซึ่งเมื่อระบบทำการประมวลผลแล้ว จะแจ้งตรงไปยังผู้มีสิทธิทันที โดยจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในวันอังคารที่ 19 ม.ค.เช่นกัน ทั้งนี้ คาดว่าจะดำเนินการได้ได้เร็วสุดไม่เกินสิ้น ม.ค. หรือช้าสุดไม่เกินสัปดาห์แรกของ ก.พ.นี้
3.มาตรการลดภาระรายจ่ายให้กับประชาชน ซึ่งก่อนหน้านี้ รัฐบาลเคยดำเนินการมาแล้ว และจะขยายผลในรอบนี้ต่อไปอีก โดยได้หารือกับกระทรวงมหาดไทยในการลดภาษีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตรา 90% ขณะเดียวกัน จะลดเงินค่าธรรมเนียมการโอนเหลือ 0.01% ต่อไปอีก ส่วนรายละเอียดจะได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป คาดว่าในอีก 2 สัปดาห์จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.
และ 4.มาตรการด้านการเงิน โดยมอบหมายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 7 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (ธสน.) หรือ EXIM BANK บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และธนาคารอิสลาม ได้ดำเนินการช่วยเหลือประชาชน (ลูกค้า) และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง โดยขยายผลในส่วนของมาตรการเสริมสภาพคล่อง (สินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ) และมาตรการบรรเทาหนี้ (พักชำระหนี้)
โดยเฉพาะในส่วนของธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.ที่ได้ดำเนินการขยายระยะเวลาความช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ออกไปจนถึง 30 มิ.ย.2564 ขณะที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอื่นๆ ดำเนินการขยายระยะเวลาจนถึง 30 มิ.ย.2564 ไปแล้วก่อนหน้านี้. (อ่านรายละเอียดของมาตรการแต่ละแบงก์เพิ่มเติมได้ที่ www.aec10news.com)