สรรพากรเน้นเก็บภาษีกลุ่มได้ประโยชน์จากโควิดฯ
สรรพากรรุกเก็บภาษี! กลุ่มได้ประโยชน์จากโควิดฯ พร้อมดึง ระบบ DATA Analytic อุดช่องโหว่ “เลี่ยงภาษี” อย่างเป็นธรรม เผย! มี.ค.นี้ ส่ง “ทูตภาษี” 120 คนลงพื้นที่ทั่วไทย ให้คำปรึกษาการเสียภาษี ยอมรับ! จัดเก็บรายได้ปี’64 วูบแน่!
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวยอมรับว่า การจัดเก็บรายได้ของกรมฯในปีงบประมาณ 2564 มีปัญหาจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และน่าจะเป็นกรมจัดเก็บรายได้ที่ได้รับผลกระทบและมีผลการดำเนินงานติดลบมากสุด ทั้งจากมาตรการของรัฐและภาวะเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม กรมฯจะพยายามอย่างเต็มที่ในการจัดเก็บรายได้ตามที่รับมอบหมายจากรัฐบาล
ทั้งนี้ ตนเพิ่งเข้าพบ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง และได้รับการกำชับให้จัดเก็บรายได้อย่างเป็นธรรม ซึ่งกรมฯจะเน้นรุกจัดเก็บรายได้จากผู้มีรายได้และกิจการที่มีผลกำไร ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจออนไลน์หรือออฟไลน์ ทั้งนี้ มีหลายธุรกิจที่ได้รับผลดีจากปัญหาโควิดฯ อาทิ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายถุงมือยาง, เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น
“เราพยายามจะแยกผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดฯ มาเพื่อให้ชำระภาษีอย่างถูกต้องและเป็นธรรมเพราะเป็นหน้าที่ของผู้มีรายได้และมีผลกำไรจากการดำเนินงาน เพื่อนำรายได้เหล่านั้น มาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ” อธิบดีกรมสรรพากร ระบุและว่า
ขณะนี้ กรมฯได้แต่งตั้ง Tax Ambassador หรือ “ทูตภาษี” ในทุกสรรพากรพื้นที่รวม 119 คน/แห่ง โดยมี นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เป็น “หัวหน้าทีม” รวม 120 คน เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาในการเสียภาษีทั้งกับบุคคลทั่วไปและนิติบุคคล
ควบคู่ไปกับการนำ ระบบ DATA Analytic ที่ใช้จัดเก็บ รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลลงลึกถึงพฤติกรรมการเสียภาษี รวมถึงประเมินการหลบเลี่ยงภาษี ไม่ว่าจะเป็นการแสดงรายได้ไม่ครบ หรือการปลอมแปลงเอกสารรายจ่ายเกินความเป็นจริง โดย “ทูตภาษี” จะคอยเข้าไปช่วยเหลือในส่วนนี้ นอกจากนี้ ยังมี “ทูตภาษีออนไลน์” ที่ชื่อ “น้องอารีย์” คอยให้คำแนะนำผ่านระบบออนไลน์ด้วย
นายเอกนิติ ย้ำอีกว่า ขณะนี้ ยังตอบไม่ได้ว่าจะมีกลุ่มคน/นิติบุคคล จงใจจะหลบเลี่ยงภาษีหรือไม่? อย่างไร? เพราะยังมีเวลาให้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี จนถึง 31 มี.ค.2564 และยื่นผ่านระบบออนไลน์ได้ถึง 8 เม.ย. แต่ระหว่างนี้ กรมฯได้ตรวจเช็คข้อมูลและพฤติกรรมกรรมการเสียภาษีผ่าน ระบบ DATA Analytic และจะเน้นการปฏิบัติการเชิงรุกมากขึ้น ก่อนจะสิ้นสุดการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี โดยจะเริ่มดำเนินการอย่างจริงจังในช่วงเดือน มี.ค.นี้
สาเหตุที่ต้องทำเช่นนี้ อธิบดีกรมสรรพากร ระบุว่า ที่ผ่านมากรมฯมักจะดำเนินการย้อนหลังในการตรวจสอบการยื่นชำระภาษี และผู้ที่ถูกตรวจพบว่ายื่นไม่ครบหรือหลบเลี่ยง จะต้องเสียเงินค่าเบี้ยปรับ (2 เท่า) และเงินเพิ่ม (1.5% ต่อเดือน) สร้างความรู้สึกไม่ดีกับผู้เสียภาษี ที่บางครั้งอาจไม่ได้จงใจจะหลบเลี่ยงภาษี ซึ่งการให้คำปรึกษาของ “ทูตภาษี” จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
“ผู้ที่จงใจหลบเลี่ยงภาษีรู้อยู่แก่ใจว่าข้อมูลและเอกสารของตัวเองเป็นจริงหรือไม่ แต่เมื่อมี “ทูตภาษี” เข้าไปให้คำปรึกษาและคอยชี้แนะการเสียภาษีอย่างถูกต้อง จะช่วยลดปัญหาการหลบเลี่ยงภาษีได้เป็นอย่างดี เพราะการแต่งตั้ง “ทูตภาษี” ขึ้นมา ก็เพื่อแก้ไขปัญหานี้อยู่แล้ว”
สำหรับผู้ที่หลบเลี่ยงภาษีมาก่อนหน้านี้ ข้อมูลจาก ระบบ DATA Analytic สามารถจะตรวจเช็คข้อมูลและพฤติกรรมการเสียภาษีได้ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะต้องเสียเงินเป็นค่าเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ตามจำนวนเดือนและปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังสามารถขอคำปรึกษาจาก “ทูตภาษี”เพื่อดำเนินการแก้ไขในความผิดพลาดก่อนหน้านี้ได้ ส่วนการจะพิจารณา “นิรโทษกรรมทางภาษี” ลดหรือยกเว้นเบี้ยปรับเงินเพิ่ม หรือไม่? อย่างไร? เป็นเรื่องการตัดสินใจในเชิงนโยบายของรัฐบาล.