กสทช.ปัดอุ้มทีวีดิจิทัล-โทรคมนาคม
“ฐากร” ยันไม่ได้ชงนายกฯ ออกมาตรา 44 ช่วยเหลือทีวีดิจิทัลและโทรคมคม แต่เป็นของเสนอจากภาคเอกชน จึงต้องรวบรวมความเห็นเสนอรัฐบาล ด้านเอกชนขอรัฐบาลช่วยเหลือด่วน เพราะประมูลมาแพง
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงกรณีที่มีนักวิชาการแสดงความเห็นเกี่ยวกับการช่วยเหลือกิจการโทรคมนาคม และทีวีดิจิทัลว่า สำนักงานกสทช.ไม่ได้เป็นผู้เสนอเรื่องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกมาตรการช่วยเหลือโดยขยายระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดที่ 4 ของบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) บริษัทในเครือ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) บริษัทย่อยของบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) โดยแบ่งจ่ายเป็น 7 งวด
“เป็นข้อเสนอของทั้ง 2 บริษัทที่ยื่นให้แก่รัฐบาล ขอยืนยันว่ากสทช.ไม่มีอำนาจในการผ่อนผันการชำระค่าธรรมเนียมของทั้ง 2 บริษัทได้เอง รวมถึงมาตรการช่วยเหลือทีวีดิจิทัลก็ไม่ได้เป็นผู้เสนอเป็นแต่เพียงผู้รวบรวมข้อมูลให้คำปรึกษากับรัฐบาลเท่านั้น”นายฐากร กล่าว
อนึ่ง เมื่อวานนี้นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการค่ายโทรศัพท์มือถือที่จะขอขยายระยะเวลาจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) เพื่อรองรับการให้บริการโครงข่าย 4G ที่อาจจะมีการนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 10 เมษายนนี้ โดยเห็นว่าการที่กสทช. เสนอความเห็นแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคมในแนวทางที่แตกต่างจากหลักการที่นายกรัฐมนตรี ให้แนวนโยบายที่ต้องคำนึงถึงหลักการ 2 ประการ ได้แก่ 1.ต้องให้เอกชนสามารถประกอบธุรกิจได้ ไม่กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่ทั้งนี้เอกชนต้องยอมรับความจริงเรื่องความเสี่ยงทางธุรกิจ และ 2. ต้องไม่ให้ผลประโยชน์ของรัฐเสียหายนั้น นับว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
นายฐากร ระบุว่า ที่ผ่านมานักวิชาการและภาคประชาชนไม่เห็นด้วยกับการเข้าข่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคม ตนก็ไม่ขัดข้อง แล้วแต่รัฐบาลจะตัดสินใจ เพราะอย่างไรเสียเมื่อถึงปี 63 กสทช.สามารถนำแบงก์การันตีไปขึ้นเงิน ตามที่ผู้ประกอบการได้วางหลักประกันเมื่อตอนประมูลคลื่น
นอกจากนี้ คสช.ไม่ได้ขอความเห็นจาก กสทช.รายเดียว แต่ได้มีหลายหน่วยงานให้ความเห็น ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
“วันนี้หลายคนเห็นว่าผู้ประกอบการทั้ง 2 ค่ายมีกำไรอยู่ ผมไม่ติดใจ ส่วนเรื่องจะออกมาอย่างไรขึ้นกับรัฐบาลจะตัดสินใจเอง ผมไม่ได้เป็นคนชงเรื่อง” นายฐากร กล่าว
ขณะที่เรื่องขอให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการดิจิทัล เห็นว่าไม่มีใครคัดค้าน ก็ให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่เสนอขอความช่วนเหลือ และกสทช.ก็ให้ความเห็นช่วยเหลือกับคสช.แล้วที่ให้พักชำระค่าใบอนุญาต และให้ช่วยเหลือค่าโครงข่าย (MUX) ไม่เกินกว่า 50% ทั้งนี้หากฝ่ายใดมีความเห็นอะไรให้นำเสนอไปที่รัฐบาลได้โดยตรง
นายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัท (ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) เปิดเผยว่า บริษัทเคารพในการตัดสินใจหากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีข้อสรุปไม่ให้ขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) งวดสุดท้ายในปี 63 ออกไป ภายหลังจากที่เมื่อเดือนก.ย.60 บริษัทได้ยื่นหนังสือถึงคสช. ขอให้พิจารณาผ่อนผันการชำระค่าใบอนุญาตดังกล่าวออกไปเป็น 7 งวด โดยไม่มีดอกเบี้ย
แต่หากไม่ได้รับความช่วยเหลือ บริษัทก็มองว่าน่าจะส่งผลกระทบต่อแผนการลงทุนของบริษัท และแผนการเข้าประมูลคลื่นความถี่ใหม่ แต่อย่างไรก็ตามการเข้าประมูลคลื่นความถี่ ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการบริษัท อีกทั้ง ยังส่งผลกระทบต่อภาพรวมอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ในการลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่ เช่น IoT, IoE เป็นต้น เนื่องจากอุตสาหกรรมฯ ถือว่ามีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงส่งผลกระทบต่อภาคประชาชนในการเปลี่ยนผ่านคลื่นความถี่จาก 4G ไป 4.5G และ 5G
“ถ้าภาครัฐไม่ให้ผ่อนชำระค่างวดใบอนุญาต เราก็เคารพการตัดสินใจของภาครัฐ แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อแผนการลงทุน และโอกาสในการเข้าประมูลคลื่นในครั้งต่อไปพอสมควร เนื่องจากเราต้องสำรองเงินไว้ลงทุนในบริษัทในเครืออื่น ๆ อีก แต่ถ้าช่วยเหลือ เราก็จะมีโอกาสในการลงทุนได้ตามแผน”
สำหรับกรณีที่นักวิชาการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการช่วยเหลือกิจการโทรคมนาคม บริษัทยืนยันว่าข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้ทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ เป็นเพียงการขอขยายระยะเวลาการผ่อนชำระค่างวดใบอนุญาตคลื่นความถี่เท่านั้น ซึ่งบริษัทก็มีความยินดีที่จะจ่ายดอกเบี้ย ตามภาครัฐกำหนด
“รัฐไม่ได้เสียประโยชน์ เรายังคงจ่ายเงินให้ทั้งหมด และจ่ายดอกเบี้ยด้วย เพียงแต่เราขอขยายระยะเวลา ถ้ารัฐเลือกที่จะไม่ช่วยแน่นอนจะกระทบต่อการพัฒนา ซึ่งเทเลคอมต้องพัฒนาไปเรื่อย ๆ และมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง”นายวิเชาวน์ กล่าว
นายวิเชาวน์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี2560 ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้ยื่นขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล เพราะราคาประมูลสูงกว่าราคาที่ตั้งไว้ 2 เท่า บริษัทจึงเห็นว่าเมื่อการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ที่ผ่านมามีราคาสูงกว่าราคาเริ่มต้นถึง 6 เท่า จึงน่าจะขอความช่วยเหลือจากรัฐได้ อีกทั้งรูปแบบการชำระเงินค่างวดใบอนุญาตในเอกสารเชิญชวนประมูล (TOR) ที่กำหนดให้แบ่งชำระเป็น 4 งวด ได้แก่ งวดที่ 1 ชำระ50% หรือ 8,040 ล้านบาท, งวดที่ 2 ชำระ 25% หรือ 4,020 ล้านบาท, งวดที่ 3 ชำระ 25% หรือ 4,020 ล้านบาท และงวดสุดท้ายชำระที่เหลือทั้งหมดรวมดอกเบี้ย หรือราว 60,000 ล้านบาท ถือเป็นจำนวนที่สูงเกินคาดการณ์ ซึ่งหากมีการออกแบบ TOR ให้ดีกว่านี้อาจจะไม่ส่งผลกระทบกับเทคโนโลยีที่จะเข้ามา หรือการประมูลในครั้งต่อไป
“คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตของประเทศไทย ถือเป็นคลื่นความถี่ที่แพงที่สุดในโลกแล้ว” นายวิเชาวน์ กล่าว