ธสน.หวั่นเอสเอ็มอีเสี่ยงเล่นเงินบาท
ธสน.เผยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี คิดว่า ตนเองเก่งไม่ซื้อประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่ในท้ายที่สุดขาดทุน พร้อมออกผลิตภัณฑ์ใหม่ อัตราดอกเบี้นต่ำช่วยเหลือผู้ประกอบการในอีอีซี
” โครงการฝึกอบรมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยธนาคารได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการจนถึงเดือนมิ.ย.ปีนี้ แต่ผลปรากฎว่า ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการเมื่อเดือนพ.ย. ปีที่แล้ว จนปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าร่วมโครงการเพียง 2,500 ราย จากเป้าหมาย 5,000 รายและคาดว่า เมื่อปิดโครงการจะมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีฝึกอบรมกับธนาคารประมาณ 3,000-4,000 รายเท่านั้น “ นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่ประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ กล่าวและกล่าวว่า
” ในช่วงแรก มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงการคลังได้อนุมัติให้ธนาคารดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อให้ความรู้ และความเข้าใจในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนด้วยการซื้อประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนจากธนาคาร โดยผู้ที่ผ่านการอบรม สสว.จะให้วงเงินในการซื้อประกันความเสี่ยงรายละ 30,000 บาทฟรีๆ เพื่อเป็นการทดสอบของจริง แต่จนถึงขณะนี้ มีผู้ประกอบการที่ผ่าน การฝึกอบ รมและซื้อประกันความเสี่ยงเพียง 300 รายเท่านั้น”
นายพิศิฐ์ กล่าวว่าในช่วงที่ผ่านมาธนาคารได้เปิดโครงการอบรมเป็นระยะเวลา 2 วัน แต่ผู้ประกอบการระบุว่า ใช้เวลานานเกินไป จึงปรับลดระยะเวลาเหลือ 1 วัน และล่าสุด ลดเหลือครึ่งวันเช้า หรือประมาณ 4 ชั่วโมง เพื่อให้สอด คล้องกับการทำงานของผู้ประกอบการ ส่วนสาเหตุที่ผู้ประกอบการไม่นิยมซื้อประกันความเสี่ยง เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่คิดว่าตนเองมีความรู้ความสามารถเรื่องเก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่ผลปรากฎว่า ส่วนใหญ่มักจะขาดทุนกับอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่า จึงขอเตือนผู้ประกอบการว่า ไม่ควรเก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ในโครงการ “ สินเชื่อเอ็กซิมเพื่อโซนพิเศษ (EXIM Special Zone Credit) ” เพื่อช่วยส่งเสริมและสนับสนุนโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง นวัตกรรม และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-curve) เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสินค้าของไทยไปสู่การสร้างแบรนด์สินค้าของไทยในตลาดโลก โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าไปลงทุนในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ครอบคลุมจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง อัตราดอกเบี้ยพิเศษ ปีที่ 1-3 เท่ากับ Prime Rate -1.75% ต่อปี (หรือ 4.50% ต่อปี) พร้อมสินเชื่อหมุนเวียนเพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจวงเงินสูงสุด 1.5 เท่าของวงเงินสินเชื่อระยะยาว อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน Prime Rate -1.50% (หรือ 4.75% ต่อปี) โดยมีดอกเบี้ยขั้นต่ำ 4.00%ต่อปี ระยะเวลากู้สูงสุด 15 ปี รวมระยะเวลาปลอดเงินต้น (Grace Period) ไม่เกิน 2 ปี สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่ลงทุนในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มอีก 0.25%ต่อปี โดยเตรียมวงเงินไว้ทั้งสิ้น 5,000 ล้านบาท
และยังได้ออกโครงการ “สินเชื่อ Soft Loan เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ระยะที่ 2” ภายใต้โครงการ Transformation Loan เสริมแกร่งตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นวงเงินกู้สำหรับผู้ ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อใช้ลงทุนในการปรับปรุงหรือขยายกิจการ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนระยะยาวในการเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ อัตราดอกเบี้ย 4.00% ต่อปี วงเงินสูงสุด 15 ล้านบาท ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี รวมระยะเวลาปลอดเงินต้น (Grace Period) ไม่เกิน 1 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการลงทุนของเอสเอ็มอี ในกลุ่มอุตสาหกรรม 10 S-curve และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง.