บุหรี่เถื่อนระบาดหนัก
ฟิลลิปมอร์ริส ฯ เปิดเผยผลสำรวจล่าสุดเรื่องสัดส่วนบุหรี่ไม่เสียภาษีในไทยพุ่งขึ้นแตะ 6.6% โดยจุด พื้นที่มีความเสี่ยงสูงได้แก่จังหวัดในภาคใต้ พร้อมแนะรัฐปราบปรามบุหรี่เถื่อนระดับภูมิภาคและจังหวัด
นายพงศธร อังศุสิงห์ ผู้อำนวยการฝ่ายบรรษัทสัมพันธ์ ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด เปิดเผยว่า ผลการสำรวจ Empty Pack Survey (EPS) โดยสำรวจจากซองบุหรี่เปล่าที่ทิ้งแล้วซึ่งดำเนินการโดยบริษัทวิจัยนีลเส็นได้แสดงผลสัดส่วนบุหรี่ไม่เสียภาษี (บุหรี่ที่ไม่มีแสตมป์สรรพสามิตของไทยติดบนซอง) ที่พุ่งขึ้นเป็น 6.6% ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว จากเดิม 2.9% ในช่วงไตรมาสที่4 ของปี 2559
“ผลการสำรวจดังกล่าวได้ดำเนินการในช่วงระหว่างวันที่ 1-23 ต.ค.2560 ปรากฏว่าสัดส่วนบุหรี่ไม่เสียภาษีได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วงเวลาเพียง 1 ปีโดยสภาพปัญหามีความรุนแรงที่สุดในพื้นที่ภาคใต้โดยหากเจาะในรายจังหวัดแล้วพบว่า ในสัดส่วนบุหรี่ไม่เสียภาษีใน จ.สตูลสูงถึง 76.6% จ.สงขลา 67% และจ.พัทลุง 40%”
นายพงศธร กล่าวว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างซองบุหรี่ทิ้งแล้วทั้งหมดจำนวน 10,000 ซอง ที่นำมาเก็บผลในการศึกษานี้ พบว่า 669 ซอง (เทียบเท่า 6.6%) ไม่มีแสตมป์สรรพสามิตของไทยติดอยู่ ซึ่งจะนับเป็นบุหรี่ที่ไม่มีเสียภาษี หรือบุหรี่ที่มิได้มีไว้เพื่อจำหน่ายตามกฎหมายในประเทศไทย ทั้งนี้ประมาณ 50% ของกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจพบประกอบไปด้วย 2 ยี่ห้อ ซึ่งเป็นยี่ห้อที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพสามิต
“หลังการปฏิรูปภาษีสรรพสามิตเมื่อเดือนก.ย.2560 บริษัทได้คาดว่า ปริมาณการบริโภคบุหรี่ถูกกฎหมายจะหดตัวลงอย่างมากในปีนี้ โดยผู้สูบที่ไม่มีกำลังซื้ออาจตัดสินใจเลิกสูบไปเลย หรืออาจหันไปสูบยาเส้นมวนเอง หรือแม้กระทั่งบุหรี่เถื่อนก็ได้ โดยประมาณการว่า ปริมาณการบริโภคบุหรี่ไม่เสียภาษีในไทยอาจสูงถึง 100 ล้านซอง ซึ่งหากคำนวณจากมูลค่าภาษีสรรพสามิต 36 บาทต่อซอง จะเห็นตัวเลขการสูญเสียรายได้ภาษีสรรพสามิตอย่างน้อย 3,600 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ สถานการณ์อาจเลวร้ายลงได้อีกเนื่องจากภาระภาษีสรรพสามิตมีกำหนดปรับขึ้นอีกครั้งในเดือนต.ค.ปีหน้า โดยบุหรี่ซิกาแรตทั้งหมดจะต้องเสียภาษีสรรพสามิตตามปริมาณในอัตราซองละ 24 บาท และตามด้วยภาษีตามมูลค่าที่อัตรา 40% หากคิดประเมินตามสถานการณ์นี้ โดยให้บุหรี่เถื่อนมีสัดส่วนคงที่ 6.6% ขณะที่ปริมาณการบริโภคบุหรี่ถูกกฎหมายหดตัวลงอีก รัฐอาจสูญเสียรายได้ภาษีสรรพสามิตถึง 5,000 ล้านบาทในปี 2563”
สำหรับแนวทางจัดการปัญหานั้น ในต่างประเทศที่ประสบปัญหาเรื่องบุหรี่เถื่อน เช่น ออสเตรเลียหรือสหภาพยุโรป (อียู) รัฐบาลในประเทศดังกล่าวให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะการป้องกันและปราบปราม บุหรี่เถื่อน ซึ่งเป็นแนวทางที่รัฐบาลไทยได้ดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน แต่จะต้องขยายผลลงไปสู่ระดับภูมิภาคหรือระดับจังหวัดด้วย.