รัฐ งัด มาตรการใหญ่อุ้มแรงงานฝ่าโควิด
รัฐบาลลดเงินสมทบประกันสังคม นาน 3 เดือน บรรเทาความเดือดร้อนจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ พร้อมเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร ผู้ประกันตน จาก 600 บาท เป็น 800 บาท/เดือน เริ่ม 1 ม.ค. 64
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2563 ว่า ครม.อนุมัติร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งเป็นการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนและนายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1.ลดอัตราเงินสมทบฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 จากเดิม 5% ลดเหลือ 3% สำหรับฝ่ายรัฐบาลส่งเงินสมทบอัตราเดิม คือ 2.75% ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 39 ให้ปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม จากเดิมเดือนละ 432 บาท เหลือเดือนละ 278 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2564 ถึงวันที่ 31 มี.ค.2564
2.ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค.2564 ให้รัฐบาล นายจ้างและผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ออกเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีคลอดบุตร ฝ่ายละ 1.05%
-การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน ฝ่ายละ 1.85% และรัฐบาลปรับเป็น 1.45%
-การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน ฝ่ายละ 0.1% และรัฐบาลปรับเป็น 0.25%
3.ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2560 เป็นต้นไป ให้รัฐบาล นายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ออกเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีคลอดบุตร ฝ่ายละ 1.5%
-การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตนฝ่ายละ 3% และรัฐบาล 1%
-การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน ฝ่ายละ 0.5% และรัฐบาล 0.25%
“ การลดอัตราเงินสมทบจะส่งผลดีต่อผู้ประกันตนและนายจ้าง โดยช่วยให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินไปใช้จ่ายเสริมสถาพคล่อง ประมาณคนละ 460 – 900 บาท เป็นเวลา 3 เดือน คิดเป็นมูลค่ารวม 8,248 ล้านบาท สำหรับนายจ้าง จะทำให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบลดลง รวม 7,412 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายและช่วยรักษาการจ้างงานต่อไปได้”
นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะครอบครัวที่มีเด็กเล็ก ทำให้รายได้ลดลงหรือไม่มีรายได้ เนื่องจากต้องหยุดงานหรือต้องออกจากงาน ในขณะที่รายจ่ายเกี่ยวกับเด็กแรกเกิดเป็นรายจ่ายที่จำเป็น ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาภาระของผู้ประกันตนให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ครม. จึงมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร พ.ศ. 2561 โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1.เพิ่มอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรเหมาจ่าย จากเดิม 600 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คน เพิ่มเป็น 800 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 เป็นต้นไป
2.ผู้ที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร ตามกฎกระทรวงฯ ฉบับเดิม (พ.ศ. 2561) จะยังคงได้รับสิทธิตามอัตราที่กำหนดใหม่ในกฎกระทรวงฉบับนี้ นับตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับ
ขณะที่ กระทรวงแรงงานเสนอให้ ครม.พิจารณาร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญคือ
1.กำหนดให้กฎกระทรวงฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป 2.กำหนดนิยามคำว่า “เหตุสุดวิสัย” หมายถึง ภัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ซึ่งมีผลกระทบต่อสาธารณชน และถึงขณะที่ผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ
3.กำหนดให้ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยและหน่วยงานของรัฐสั่งปิดพื้นที่ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตราย อันส่งผลให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ให้ลูกจ้างดังกล่าวมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวัน ตามมติคณะกรรมการประกันสังคม โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่สั่งปิดพื้นที่ ทั้งนี้ ภายในระยะเวลา 1 ปีปฏิทิน จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนดังกล่าวทุกครั้ง แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 90 วัน
“จากการประเมินสถานการณ์ของกระทรวงแรงงาน ร่างกฎกระทรวงนี้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนที่อยู่ในสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการที่รัฐบาลสั่งปิดกิจการ โดยในเบื้องต้นคาดว่ามีจังหวัดที่ได้รับผลกระ ทบ อาทิ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ราชบุรี และสมุทรสงคราม รวมกันแล้วประมาณ 5.7 ล้านคน คิดเป็นเงินกว่า 5,225 ล้านบาท”