ครม.อุ้มแรงงานตกงานรับเงินชดเชย 50 %
ครม.ไฟเขียวร่างกฎกระทรวงฯ จ่ายเงินชดเชยกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย เตรียมพร้อมรองรับผู้ว่างงาน จากการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ลูกจ้างประกันตนตกงานได้รับเงินชดเชย 50 %
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.63 ว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้ออกกฎกระทรวงมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการจ่ายเงินเยียวยาในกรณีมีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้าง เนื่องจากต้องกักตัวหรือนายจ้างหยุดกิจการตามคำสั่งของราชการ โดยลูกจ้างจะได้รับสิทธิประโยชน์เงินทดแทนกรณีว่างงาน ตั้งแต่ 1 มี.ค. – 31 ส.ค.2563 แต่ด้วยสถานการ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่เกิดขึ้น รัฐบาลจึงต้องเตรียมมาตรการรองรับ
วันนี้ (22 ธ.ค.) ครม. จึงมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญคือ
1.กำหนดให้กฎกระทรวงฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป 2.กำหนดนิยามคำว่า “เหตุสุดวิสัย” หมายถึง ภัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ซึ่งมีผลกระทบต่อสาธารณชน และถึงขณะที่ผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ
3.กำหนดให้ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยและหน่วยงานของรัฐสั่งปิดพื้นที่ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตราย อันส่งผลให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ให้ลูกจ้างดังกล่าวมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวัน ตามมติคณะกรรมการประกันสังคม โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่สั่งปิดพื้นที่ ทั้งนี้ ภายในระยะเวลา 1 ปีปฏิทิน จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนดังกล่าวทุกครั้ง แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 90 วัน
“จากการประเมินสถานการณ์ของกระทรวงแรงงาน ร่างกฎกระทรวงนี้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนที่อยู่ในสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการที่รัฐบาลสั่งปิดกิจการ โดยในเบื้องต้นคาดว่ามีจังหวัดที่ได้รับผลกระ ทบ อาทิ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ราชบุรี และสมุทรสงคราม รวมกันแล้วประมาณ 5.7 ล้านคน คิดเป็นเงินกว่า 5,225 ล้านบาท”