กพอ.เร่งยกระดับโรงงานอุตฯ อีอีซี ใช้5จี
นับจากนี้ไป กพอ.เร่งส่งทีม “Tara” เข้าไปช่วยเหลือและให้คำแนะนำโรงงานอุตสาหกรรม ในเขตพื้นที่อีอีซี ใช้เทคโนโลยี 5จี ในคำสั่งปฏิบัติงานมากขึ้น เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเข้าสู่ยุคดิจิทัล
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบให้ กพอ.ไปเร่งดำเนินการ 2 โครงการใหญ่ ประกอบด้วย 1.พัฒนาโครงข่าย 5จี และโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) และ2.การพัฒนาแผนเกษตรในอีอีซี ยกระดับภาคการเกษตรให้มีรายได้ ใกล้เคียงภาคอุตสาหกรรม
โดยหัวใจของดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี จากนี้ไปคือ เรื่องการสร้างผู้ใช้ 5 จี ภายหลังจากประ เทศไทย ถือเป็นประเทศแรกของภูมิภาคอาเซียนที่นำ 5จีมาใช้ก่อนเป็นอันดับแรก จึงมีความจำเป็นต้องผลักดันการใช้ 5 จี ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากสัญญาณของ 5จี มีความเร็วมากถึงขั้นสั่งงานในระบบปฏิบัติการของภาคอุตสาหกรรม โรงแรม รวมถึงการักษาพยาบาลในโรงพยาบาลได้
การมี 5จี ไม่ใช่มีแค่ “ท่อสายเสาสัญญา” เท่านั้น นายคณิศ กล่าว และยังกล่าวว่า ท่อสายเสาสัญญานั้น หากมีค่าเท่ากับ 100 แต่ตัวที่จะทำให้เกิดธุรกิจต้องมีถึง 500 ซึ่งขณะนี้ อีอีซี 100 แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้ธุรกิจ มีขนาดใหญ่ถึง 5 เท่า จึงถือเป็นหน้าที่ของที่ต้องผลักดันเรื่องนี้ ล่าสุด บริษัท ญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ในพื้นทีอีอีซี ได้เริ่มใช้ 5จีแล้ว ในโรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น การบังคับหุ่นยนต์ เป็นต้น แต่ยังมีโรงงานอีกจำนวนมาก ที่ไม่รู้ว่า จะใช้ 5จี ในอุตสาหกรรมได้อย่างไร
“ตอนนี้ เรามี Tara หรือ Thai Automation & Robotics Association คือ กลุ่มผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย ประมาณ 200 คน เริ่มเข้าไปให้คำปรึกษาและคำแนะนำโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อนำ 5จีไปใช้ภาคการผลิต”
นายคณิศ แสงสุพรรณ กล่าวว่า โรงงานอุตสาหกรรมในอีอีซี มีประมาณ 10,000 แห่งที่สามารถเข้าถึง 5 จีได้ ในจำนวนนี้ คาดว่า มีประมาณ 15% หรือ 1,500 โรงงาน ที่เริ่มใช้ 5จีแล้ว ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นบริษัทญี่ปุ่น แต่อีก 85% ยังไม่ได้ใช้ จึงเป็นหน้าที่ของTara ที่จะต้องเข้าไปช่วยเหลือและพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้
“นอกจากยังมีโรงแรมอีก 300 แห่ง หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา โรงพยาบาลร่วมถึงผู้ประกอบการรายย่อย หรือเอสเอ็มอี ที่จะต้องเข้าถึง 5จี ด้วย”
โดยได้กำหนดเอาไว้ 4 พื้นที่ของอีอีซีที่จะต้องสอดรับและเชื่อมโนงกัน ประกอบด้วย 1.ท่าเรือมาบตาพุด เป็นพื้นที่ในการเพิ่มประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรม 2.อำเภอบ้านฉาง เป็นเขตในการพัฒนาและยกระดับชุมชน 3.สนามบินอู่ตะเภา เป็นพื้นฐานที่โครงสร้างพื้นฐานเมืองการบิน และ 4.ฐานทัพเรือสัตหีบ ดูแลเกี่ยวความมั่นคง ซึ่งถือเป็นเขตเมืองที่พร้อมให้บริการ 5จี อย่างเต็มรูปแบบ
ดังนั้น จึงได้ตั้งเป้าหมายให้เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) เป็นจุดตั้งศูนย์ข้อมูล หรือ Data Center จากเดิมที่จะใช้รูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ พีพีพี โดยจะจัดหาภาคเอกชนที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องการวางพื้นฐาน และการบริหารโครงการข่ายดิจิทัล เปลี่ยนมาเป็นการลงทุนเองโดยภาครัฐ ซึ่งจะเป็นความร่วมมือกันระหว่าง 3 หน่วยงานคือสำนักงานอีอีซี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกันพัฒนา
“รูปแบบเดิมที่มีเอกชนมาร่วมลงทุน แต่เราไม่เอาแล้ว เพราะเอกชนมองว่า มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเช่น ถนน และไฟฟ้า ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของภาคเอกชน เราจึงเห็นว่า เอกชนน่าจะเข้ามาเป็นผู้วางโครงข่ายและบริหารงานในพื้นที่อีอีซีดีจะดีกว่า เพราะมีเชี่ยวชาญเรื่องดิจิทัล โดยมีหลายประเทศที่สนใจเข้ามาลงทุนในไทย เช่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ ไต้หวัน จีน และยุโรป ซึ่งเราจะใช้งบลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 400-500 ล้านบาท”
นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาบุคคลกรดิจิทัลที่มีทักษะตามความต้องการของเอกชน (Up-Re-New) อีกจำนวน 100,000 คนด้วย
ส่วนเรื่องที่ 2 คือ การพัฒนาแผนเกษตรในอีอีซี ยกระดับภาคการเกษตรให้มีรายได้ ใกล้เคียงภาคอุตสาหกรรม โดยคาดว่า ปลายเดือนม.ค.นี้ กพอ.จะสามารถลงนามกับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในการก่อสร้างห้องเย็น มูลค่า 400-500 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถเก็บผลไม้ได้ถึง 4,000 ตัน นานข้ามปี เพื่อช่วยรักษาและถนอมผลไม้ที่มีจำนวนมากตามฤดูกาล โดยห้องเย็นดังกล่าว จะไม่ทำให้คุณภาพของผลไม้ลดลง
ส่วนผลการดำเนินงานของ กพอ.ในช่วง 11 เดือน (ม.ค.- พ.ย. 2563) มีทั้งสิ้น 387 โครงการ มูลค่าลงทุนสูงถึง 128,000ล้านบาท เทียบเท่าครึ่งหนึ่งของการลงทุนทั้งประเทศ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และปิโตรเคมี ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มี 415 โครงการ มูลค่า 199,041 ล้านบาท เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 และคาดว่า จะมีการลงทุนมากขึ้นในปีหน้า เมื่อรวมกับโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ และโครงการต่างๆ ที่ต้องลงทุนอยู่แล้ว มูลค่ารวมจะสูงถึง 400,000 ล้านบาท.