เตือนรัฐสกัดต่างชาติผูกขาดเทคโนฯ หวั่นเสี่ยงระบบเศรษฐกิจ
“ฉัตรชัย’ธอส.” เชื่อ! อีกนานกว่ากลุ่มสื่อสารจะสร้างปรากฏการณ์ “สึนามิใหญ่” ถล่ม! ภาคการเงินโลก เหตุยังหาทางรับมือ “ความเสี่ยง-หนี้เสีย” ในระบบการเงินไม่ได้ เตือน! “ภาครัฐ-เรคกูเรเตอร์” เร่งหาทางสกัด “ต่างชาติ” ฮุบธุรกิจสื่อสารในไทย หวั่นการผูกขาดก่อความเสี่ยงทั้งระบบ มั่นใจ! วลี “โซเชียล ดิสแตนซิ่ง อีโคโนมี” จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในโลก ช่วงเวลา 10 ปีนับจากนี้
นายฉัตรชัย ศิริไล กก.ผจก.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ร่วมงานสัมมนาในโครงการ “จัดทำภาพฉายอนาคต (Scenario Foresight) เพื่อคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศในอีก 10 ปี เราจะอยู่กันอย่างไร” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องวายุภักดิ์ 3 โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ เมื่อช่วงบายวันที่ 1 ธ.ค.2563
โดยกล่าวตอนหนึ่งระหว่างเข้าร่วมวิพากษ์การจัดทำภาพฉายอนาคตฯ ว่า ประเด็นที่มีการพูดถึงในเวทีนี้ โดยเฉพาะคำที่ว่า “เวิร์ก ฟอร์ม โฮม”นั้น ส่วนตัวมองว่า ดูจะแคบไปแล้ว อาจเหมาะสมและอยู่ได้ดีในช่วงเวลา 3-5 ปี แต่ไม่ใช่ 10 ปี หรือตลอดไปอย่างแน่นอน แต่โลกจะมีคำใหม่ที่มีอิทธิพลมากกว่า นั่นคือคำว่า “โซเชียล ดิสแตนซิ่ง อีโคโนมี”
ต่อไปไม่ว่าจะในเชิงธุรกิจหรือปฏิสัมพันธ์ใดๆ ในสังคม จะเป็นไปในลักษณะ “โซเชียล ดิสแตนซิ่ง อีโคโนมี” เพราะผู้คนทั่วโลก สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ โดยไม่ต้องเจอหน้ากัน ซึ่งเป็นภาพฉายอนาคตที่ใหญ่มาก หลักคือ รัฐในฐานะที่จะต้องจัดหาอินฟาสตรัคเจอร์ (ระบบสาธารณูปโภค) การสื่อสารด้านดิจิทัล เพื่อให้เกิดตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ดีและทั่วถึง รวมถึงภาครัฐเอง ก็จะต้องปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย
และเพราะ โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี! ในวันที่ผู้คนทั่วโลกใช้เทคโนโลยี และเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มของเทคโนโลยีแล้ว เมื่อวันหนึ่งเกิดจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมา ใครจะเป็นคนจ่าย? เพราะทุกอย่างมีต้นทุน หากภาครัฐและเรคกูเรเตอร์ที่กำกับดูแลงานนี้โดยตรง ไม่ป้องกันและวางแผนให้ดี อาจเกิดผลกระทบกับประชาชนได้
ดังนั้น ทุกฝ่ายจะต้องตระหนักและเตรียมรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ โดยในแง่ของประชาชนผู้ใช้บริการ จะต้องปรับตัวและพฤติกรรมให้เข้าการใช้บริการในภาคของเทคโนโลยี (แอปพลิเคชั่นต่างๆ) เพราะโลกจะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิมอีกแล้ว ที่สำคัญจะต้องคิดให้รอบคอบว่าการปรับตัวครั้งนี้ เทคโนโลยีจะทำให้เงินเข้ามาในกระเป๋าของเรา หรือดึงเงินจากกระเป๋าเราออกไป โดยเฉพาะการตัดสินใจเลือกว่าจะใช้ฮาร์ดแวร์ในแบบ “ฟังก์ชั่น” คือ พอใช้งานได้แต่ราคาไม่แพง หรือจะใช้แบบ “แฟชั่น” ที่มีเทคโนโลยีสูง รูปลักษณ์สวย แต่ราคาแพง ส่วนตัวแนะให้ประชาชนผู้ใช้บริการ เน้นในเรื่อง “ฟังก์ชั่น” มากกว่า “แฟชั่น”
ขณะที่รัฐบาลเองก็จะต้องเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ โดยเฉพาะ 2 บทบาทที่มี คือ การให้ความรู้อย่างเท่าทันกับประชาชน ว่าจากนี้ไปในโลกอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น? ซึ่งเวทีวันนี้ นับว่ามีประโยชน์อย่างมาก อีกเรื่องคือ การเข้าถึงเทคโนโลยีของประชาชน โดยภาครัฐต้องสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านเทคโนโลยีให้เข้าถึงประชาชนอย่างทั่วถึง
ที่สำคัญ ทั้งรัฐบาลและเรคกูเรเตอร์ที่กำกับดูแลงานนี้โดยตรง จะต้องป้องกันและวางแผนให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดกรณีเช่นที่เอกชนไทย ขายระบบสาธารณูปโภคด้านเทคโนโลยีให้กับต่างชาติ จนสามารถเข้ามา “ผูกขาด” การดำเนินธุรกิจด้านนี้ในประเทศไทย เพราะหากสูญเสียไปแล้วจะไม่มีวันได้กลับคืนมาอย่างแน่นอน
ส่วนคำถามที่ว่า หากมีบริษัทเทคโนโลยี ที่จัดเป็น “เพลย์เยอร์” รายใหญ่ระดับโลก รุกเข้ามาในระบบการเงิน (เงินดิจิทัล) จะส่งผลกระทบกับสถาบันการเงิน (ธนาคารพาณิชย์) หรือไม่? ส่วนตัวมองว่า ความเป็นธุรกิจ “ตัวกลาง” คือ การรับฝากและปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์จะได้รับผลกระทบแน่ โดยเฉพาะพฤติกรรมที่เรียกว่า “เพียร์ทูเพียร์” (การชำระเงินดิจิทัลผ่านเครือข่ายระบบคอมพิวเตอร์) จะเกิดขึ้นตามมา อย่างไรก็ตาม การที่กลุ่มซึ่งเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจะเข้าเล่นในระบบการเงินของโลกนั้น อาจมองในด้านเดียวคือการทำธุรกรรมตามปกติ ที่ไม่มีปัญหามากนัก แต่การทำธุรกิจด้านการเงินจะมีภาวะบางอย่างที่แตกต่างออกไป เช่น ความเสี่ยงและหนี้เสีย เป็นต้น
คำถามคือ “สภาพบังคับ” ที่จะดูแลผลกระทบด้านนี้จะเป็นอย่างไร? ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่บริษัทเทคโนโลยีดังกล่าวจะเข้าไปดำเนินการบังคับควบคุมได้ง่ายๆ หรือแม้แต่จะไปบล็อกไม่ให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ทำธุรกรรมทางการเงินใดๆ ได้นั้น ก็ไม่ง่ายเหมือนในโลกของภาพยนตร์ และหากไม่สามารถควบคุมได้ อาจทำให้ “เงินดิจิทัล” ที่มีในระบบ หายไปจนหมดได้
“ปัญหาเหล่านี้ คือ ตัวที่จะบล็อกไม่ให้กลุ่มเทคโนโลยี รุกเข้ามาในระบบการเงินของโลกได้ง่ายๆ แต่หากพวกเขามีวิธีการที่ดำเนินการป้องกันแก้ไขได้แล้ว จะถือได้ว่า “สึนามิลูกใหญ่” ของสถาบันการเงินของโลก ได้เลยทีเดียว แม้สิ่งนี้จะเริ่มมีขึ้นในประเทศจีนบางแล้ว แต่ก็ยังเป็นเพียงแค่คอมมูนิตี้ที่ปิดอยู่ในวงจำกัด ยังไม่ใช่คอมมูนิตี้ของโลกความเป็นจริง” กก.ผจก. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ระบุ
ขณะที่ ดร.รุ่งเรือง ทิพยศิริ CEO New Asset Advisory Co.,Ltd. กล่าวในช่วงนี้ว่า ต้นทุนสำคัญของเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น บางส่วนได้รวมอยู่ในราคาขายของสมาร์ทโฟนแล้ว บางส่วนมีการแทรกโฆษณาอยู่ในแอปพลิเคชั่นที่เปิดให้บริการฟรี สร้างรายได้ให้กับเจ้าของเทคโนโลยี ขณะที่บางแห่งมีการดึงเอาเจ้าของระบบ “เพย์เม้นท์ เกตเวย์” หรือช่องทางการชำระเงินมาไว้ในแอปพลิเคชั่น เพื่อให้บริการทางการเงินแก่ผู้ใช้บริการ มาเป็นสปอร์นเซอร์หลักของตัวเอง.