BAY คาดเงินบาทปี 64 แข็งค่าแตะ 29 บาท/ดอลล์

ธนาคารกรุงศรีคาดเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าปี 2564 แตะ 29.00-30.25 บาทต่อดอลลาร์ รับบาทผันผวนดันผู้ประกอบการSMEs ทำป้องกันความเสี่ยงค่าเงินบาทมากขึ้นแตะ70%

นายตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ BAY กล่าวในการแถลงข่าว “2021 : ตลาดเงินปีฉลู…จะเลิศหรูหรือราบเรียบ” โดยคาดการณ์ถึงทิศทางค่าเงินบาทว่า ในสิ้นปี2564น่าจะแตะที่ระดับ 29.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐโดยมีกรอบการเคลื่อนไหวที่ 29.50 – 30.50 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
ส่วนไตรมาสแรกปีหน้า คาดว่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 30 บาท หรือมีกรอบที่ 29.50 – 30.50 บาทต่อดอลลาร์ ไตรมาส 2 เงินบาทน่าจะอยู่ที่ระดับ 29.75 บาท หรือมีกรอบที่ 29.25 – 30.50 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากมีแนวโน้มกระแสเงินทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามาในตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียน

สำหรับปัจจัยชี้นำค่าเงินบาทที่มาจากนอกประเทศได้แก่ 1) นโยบายของสหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญในการทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า 2) เงินทุนไหลกลับเข้าสู่กลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ซึ่งไทยอาจได้รับอานิสงส์บางส่วน และ 3) นโยบายการเงินและการคลังของยุโรปโชนในการรับมือกับ COVID-19 สร้างความหวังเกี่ยวกับเอกภาพของกลุ่มประเทศสมาชิก
ส่วนปัจจัยภายในประเทศได้แก่ 1 ) บัญชีเดิสะพัดของไทยยังคงเกินดุลได้ โดยคาดว่าในปี 63 และปี 64 จะเกินดุลปีละประมาณ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ 2) ทุนสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับสูง สามารถรับมีอกับการไหลออกอย่างรวดเร็วของเงินทุน (Capital Flight) 3) มาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อลดความผันผวนของค่าเงินบาท (จากราคาทองคำและกระแสเงินร้อน) รวมถึงการ Recycle การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ในรูปของการผ่อนคลายกฎเกณฑ์สำหรับการออกไปลงทุนในต่างประเทศ

และประเด็นอื่นๆ ที่ต้องติดตาม เช่น การพัฒนาและกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง , สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 การปิดเมือง หรือการกลายพันธุ์ และบทสรุป Brexit
นายตรรก ยอมรับว่า ในช่วงที่เงินบาทผันผวนผู้ประกอบการSMEs หันมาซื้อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้นจากเดิมที่มีสัดส่วนประมาณ 50% เพิ่มเป็น 70%ของจำนวนธุรกรรม โดยเฉพาะการซื้อ Option