EIC คาดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ทั้งปีครัวเรือนพุ่งแตะ 98.6% ในปี62
EIC คาดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ทั้งปีของครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาเป็น 98.6% ในปี 2562 จาก 83.2% ในปี 2552 จากการใช้ Machine Learning วิเคราะห์ แนะครัวเรือนปรับตัว4 ด้าน ลดโอกาสประสบปัญหาภาระหนี้สูง
EIC ใช้ Machine Learning วิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของภาคครัวเรือนไทยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา เพื่อค้นหาปัจจัยที่ส่งผลต่อโอกาสการเป็นครัวเรือนหนี้สูง พบว่า ระดับและประเภทของรายได้ครัวเรือน มูลค่ารถ-บ้านและการใช้จ่ายเพื่อท่องเที่ยว-บันเทิง นับเป็นลักษณะสำคัญที่สามารถอธิบายโอกาสการเป็นครัวเรือนหนี้สูงได้
หนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของสำนักงานสถิติแห่งชาติ แนวโน้มของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ครัวเรือนมีการขยายตัวที่ต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยหนี้สินเฉลี่ยของครัวเรือนไทย (เฉพาะครัวเรือนที่มีหนี้) ในปี 2562 อยู่ที่ 3.6 แสนบาทต่อครัวเรือน ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 5.1% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงกว่ารายได้ของครัวเรือน (ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 3.3%) ทำให้สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ทั้งปีของครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาเป็น 98.6% ในปี 2562 จาก 83.2% ในปี 2552
ครัวเรือนไทยจำนวนไม่น้อยมีความเปราะบางจากภาระหนี้ต่อเดือนที่สูง ในปี 2562 ครัวเรือนไทยโดยเฉลี่ยมีรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ต่อรายได้ในแต่ละเดือน (Debt Service Ratio หรือ DSR) อยู่ที่ 23.5% ซึ่งส่วนใหญ่กว่า 53.4% ของการชำระหนี้ต่อเดือนเป็นการชำระหนี้เพื่อการบริโภค (รวมยานพาหนะ) และรองลงมาเป็นการชำระหนี้เพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งมีสัดส่วนที่ 18.8%
ทั้งนี้กลุ่มครัวเรือนที่มีภาระหนี้ต่อเดือนมากที่สุด 15% แรกของครัวเรือนกลุ่มที่มีหนี้ หรือจำนวนราว 1.5 ล้านครัวเรือน ซึ่งจากการศึกษาของ EIC ในอดีต พบว่า เป็นจุดที่จะทำให้ครัวเรือนเริ่มมีความเสี่ยงเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญต่อการประสบปัญหาทางการเงิน เช่น การผิดนัดชำระหนี้ หรือการที่ไม่สามารถชำระค่าสาธารณูปโภคได้ตรงกำหนด เป็นต้น
โดยครัวเรือนที่มี DSR สูงสุด 15% แรก (กลุ่มเปราะบาง) มี DSR เฉลี่ยถึง 75.4% ซึ่งนับเป็นสัดส่วนที่สูงมากเพราะนั่นหมายความว่าครัวเรือนกลุ่มดังกล่าวเหลือเงินเพื่อการบริโภคหลังจากหักการชำระหนี้เพียงราว 1 ใน 4 ของรายได้เท่านั้น
ครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง เสี่ยงถูกกระทบหนักจาก COVID-19 นอกจากภาระหนี้หรือ DSR ที่สูงแล้ว ครัวเรือนกลุ่มนี้ยังมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่เพียงประมาณ 2.6 หมื่นบาทต่อเดือนซึ่งน้อยกว่ารายได้เฉลี่ยของครัวเรือนที่มีหนี้ในภาพรวม (3.1 หมื่นบาทต่อเดือน) นอกจากนี้ ยังมีอัตราการออมและกันชนทางการเงิน (มูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินเทียบกับรายจ่าย) ที่น้อยกว่าอีกด้วย สะท้อนถึงความสามารถในการรับมือกับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ COVID-19 ที่มีไม่มาก แม้ในปัจจุบันจะมีมาตรการพักชำระหนี้ให้แก่ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติซึ่งอาจช่วยลด DSR ลงได้บ้างในระยะสั้น แต่วิกฤติ COVID-19 ได้มีผลทำให้รายได้ครัวเรือนมีความไม่แน่นอนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ DSR อาจกลับมาเป็นปัญหาได้อีกครั้งโดยเฉพาะกับกลุ่มครัวเรือนเปราะบาง
ทั้งนี้ครัวเรือนสามารถปรับตัวเพื่อลดโอกาสในการประสบปัญหาภาระหนี้สูงได้ดังต่อไปนี้
1.เพิ่มรายได้ แม้จะเป็นเรื่องที่ท้าทายในยุค COVID-19 แต่การเพิ่มรายได้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญสูงสุดในการสร้างความสามารถในการชำระหนี้ โดยสำหรับครัวเรือนที่ทำการเกษตรหรือทำธุรกิจที่ต้องพึ่งพาการก่อหนี้ในการสร้างรายได้ รวมถึงภาครัฐอาจต้องมีมาตรการเพื่อรับมือกับแนวโน้มเชิงโครงสร้างนี้ เช่น มาตรการยกระดับทักษะแรงงาน การขยายอายุเกษียณ การสนับสนุนการจ้างงานผู้สูงอายุหรือคนพิการที่ยังสามารถทำงานได้ ฯลฯ เพื่อช่วยเสริมความสามารถในการหารายได้ของครัวเรือน
2.ลดรายจ่ายไม่จำเป็น โดยเฉพาะรายจ่ายท่องเที่ยว-บันเทิงที่ถูกบ่งชี้จากผลการวิเคราะห์ว่ามีผลในการลดโอกาสการเป็นหนี้สูงโดยเฉพาะสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย
3.เพิ่มสัดส่วนการเก็บออม รวมถึงความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวผ่านการออมซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วนในการช่วยลดโอกาสการเป็นครัวเรือนกลุ่มเปราะบางได้ดี
4.สำรวจความพร้อมก่อนก่อหนี้มูลค่าสูงก้อนใหม่ โดยเฉพาะการซื้อบ้านหรือรถยนต์ แม้ในปัจจุบันทั้งบ้านและรถจะมีการลดราคาและมีโปรโมชันจูงใจออกมามากมายจนหลายคนมองว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีในการซื้อ