กสิกรไทย-สนจ.พัฒนาแอปฯ”แจ่ม”
สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ จับมือกสิกรไทย พัฒนาแอปฯ “แจ่ม” (CHAM) เชื่อมขุมพลังนิสิตเก่าจุฬาฯ ทั่วโลก กว่า 500,000 ราย เล็งเปิดตัวต้นปี 64
นางภิมลภา สันติโชค ประธานฝ่ายสารสนเทศ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) กล่าวว่า สมาคมฯมีวัตถุประสงค์สำคัญข้อหนึ่งที่มุ่งส่งเสริมความสามัคคีระหว่างมวลสมาชิกในหมู่นิสิตเก่าจุฬาฯ และสังคมที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันประกอบกิจอันเป็นประโยชน์ต่อสถาบันและเป็นพลังขับเคลื่อนสังคม การสร้างและบริหารเครือข่ายสมาชิกในโลกยุคใหม่ที่ 5G กำลังเข้ามามีบทบาทดิสรัประบบเก่า จึงเป็นเรื่องที่เราใส่ใจและชักชวนนิสิตเก่าจุฬาฯ ราว 5 แสนรายที่กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลกปรับตัวก้าวตามให้ทัน และหวังใช้จังหวะนี้เชื่อมโยงเครือข่ายนิสิตเก่าที่มีพลังให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นด้วยแอปพลิเคชัน “แจ่ม” (CHAM) ที่พัฒนาขึ้นรองรับไลฟ์สไตล์ในยุค 5G อาทิ อัปเดตข้อมูลข่าวสารแบบเอ็กซ์คลูซีฟ บริจาคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Donation) และรับสิทธิประโยชน์และสิทธิพิเศษเฉพาะชาวจุฬาฯ จากร้านค้าแบรนด์ดังนับร้อยที่ร่วมรายการ เป็นต้น
ด้าน ดร.พิพัฒน์พงศ์ โปษยานนท์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทย ร่วมให้การสนับสนุนสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในการพัฒนาแอปพลิเคชันแจ่ม (CHAM) สำหรับนิสิตเก่าจุฬาฯ เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารกับสมาคมฯ และสมาชิกของสมาคมฯ ในการรับช้อมูล ข่าวสาร กิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคมฯ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว และเพื่อส่งเสริมให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กันภายในหมู่นิสิตเก่าเพื่อให้เกิด community ของชาวจุฬาฯ
นอกจากนี้ในอนาคตยังสามารถเชื่อมต่อบริการทางการเงิน เพื่อชำระค่าสมัครสมาชิกของสมาคมฯ การรับบริจาคและการระดมทุนในโครงการต่าง ๆ ของสมาคมฯ ได้ง่ายและรวดเร็ว ด้วยบริการรับชำระเงินผ่านคิวอาร์ โค้ด บัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือตัดบัญชีผ่านแอปฯ K PLUS ของธนาคารกสิกรไทย และจะมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางการเงินให้กับสมาชิกแอปฯ CHAM เพื่อร่วมสร้างประโยชน์ทางการเงินที่ดีที่สุดให้กับทุกคน ทั้งในด้านการเงิน การลงทุน และแหล่งทุน เป็นต้น ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถเปิดตัวเต็มรูปแบบได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564
ดร.พิพัฒน์พงศ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารกสิกรไทยร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในหลายระดับ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมผลักดันและพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมขับเคลื่อนสังคมสอดรับกับวิสัยทัศน์จุฬาฯ ในศตวรรษที่ 2 ซึ่งในประชาคมจุฬาฯ คณาจารย์ บุคลากร และน้อง ๆ นิสิตจุฬาฯ มีไลฟ์สไตล์ใหม่ผ่านการใช้ Mobile Platform ที่ธนาคารร่วมพัฒนา ภายใต้โครงการ CUNEX ซึ่งปัจจุบันมีนิสิตเป็นสมาชิกลงทะเบียนเข้าใช้งานแล้วกว่า 40,000 คนและ CUNEX STAFF สำหรับบุคลากรและคณาจารย์ กว่า 8,000 คน ซึ่งในเร็ว ๆ นี้ กลุ่มนิสิตเก่าจุฬาฯ หลายแสนรายก็กำลังจะได้ผันตัวเข้าสู่เครือข่ายใหม่ในโลกออนไลน์ที่สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วเอื้อให้การทำกิจกรรมสร้างสรรค์สังคมกับ สนจ. เข้าถึงได้ง่ายขึ้นกว่าที่เคย