กรุงศรีฯระบุ”ส่งออก”เครื่องยนต์ขับเคลื่อนศก.ไทย
วิจัยกรุงศรีฯปรับเพิ่มคาดการณ์GDP ปีนี้เป็น -6.4% จากเดิม-10.3% จากการใช้จ่ายภาครัฐและการส่งออกที่ดีกว่าคาด ด้านท่องเที่ยวยังฟื้นตัวช้าปี 2564 มีนักท่องเที่ยวแค่ 4 ล้านคน ส่วนจีดีพีคาดโต 3.3% โดยสถานการณ์การเมืองกระทบเศรษฐกิจ 0.6-1.1%
การปรับเพิ่มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 สะท้อนตัวเลข GDP ไตรมาส 3/2563 ที่ออกมาดีกว่าที่คาดไว้ การใช้จ่ายของภาครัฐมีการเร่งตัวขึ้นและการส่งออกสินค้าดีกว่าคาด เมื่อมองไปข้างหน้า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะกลับมาเป็นบวกตั้งแต่ไตรมาส 2/2564 ด้วยปัจจัยหนุนจากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า การเร่งใช้จ่ายภาครัฐ และการฟื้นตัวตามวัฏจักรของอุปสงค์ภายนอกประเทศ
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจธนาคารกรุงศรีฯ ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยยังมีความท้าทายท่ามกลางปัจจัยลบจากสถานการณ์ในประเทศ ขณะที่การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจะช้ากว่าปัจจัยขับเคลื่อนอื่น ทำให้เกิดกำลังการผลิตส่วนเกินจำนวนมากในภาคบริการ ภาวะการว่างงานยังคงส่งผลกระทบต่อรายได้และการใช้จ่ายของผู้บริโภค ขณะที่สถานการณ์การเมืองในประเทศอาจฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจและสร้างความกังวลในเรื่องความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจ
แต่การส่งออกจะเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโต โดยการลงทุนภาคเอกชนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกจะค่อยๆ ฟื้นตัว นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสเติบโตจากแนวโน้มการพึ่งพากันภายในภูมิภาคมากขึ้น (Regionalization) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาคส่งออกและภาคการผลิตของประเทศในระยะปานกลาง
ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดการณ์ว่าจะลดลงมาที่ 4.0 ล้านคนในปี 2564 จาก 6.7 ล้านคน ในปี 2563 จากความกังวลของสถานการณ์แพร่ระบาด การเปิดประเทศด้วยการจับคู่เดินทางที่ล่าช้าออกไป และการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศที่ยาวนานกว่าที่คาด ท่ามกลางการระบาดรอบ 2 และรอบ 3 ของประเทศสำคัญทั่วโลก แม้มีข่าวดีเกี่ยวกับความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีน แต่แนวโน้มการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังไม่เกิดขึ้นจนถึงไตรมาส 4/2564 ซึ่งเป็นช่วงที่คนทั่วโลกจะได้รับวัคซีนอย่างกว้างขวาง
แต่การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นจากปี 2563 ที่ -4.2% เป็น -1.1% และคาดว่าจะเติบโตที่ 2.5% ในปี 2564 การใช้จ่ายของผู้บริโภคในปี 2563 จะหดตัวน้อยกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ จากมาตรการให้เงินช่วยเหลือวงเงินมากกว่า 4 แสนล้านบาทในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ปี 2563 และมาตรการส่งเสริมการใช้จ่ายในประเทศวงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาทในไตรมาส 4/2563 ทั้งนี้ ในปี 2564 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม (งบประมาณพิเศษของรัฐบาลวงเงิน 2 แสนล้านบาท) และกำลังซื้อจากกลุ่มชั้นกลางและกลุ่มที่มีรายได้สูง จะเป็นปัจจัยหนุนการบริโภคภาคเอกชนเติบโตต่อเนื่อง
ฝ่ายวิจัยธนาคารกรุงศรียังปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของส่งออกปี 2563 จาก -12.5% เป็น -7.5% และประเมินส่งออกในปี 2564 จะเติบโตที่ 4.5% จากการฟื้นตัวขึ้นในปีนี้และแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องด้วย (1) อุปสงค์ที่เพิ่มสูงขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อุปกรณ์ทางการแพทย์และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการทำงานจากที่บ้าน (work from home) และ (2) สัญญาณการฟื้นตัวตามวัฏจักรของภาคการผลิตโลกจากการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่
ทั้งนี้ องค์การการค้าโลก (WTO) คาดการณ์ว่าการเติบโตของยอดส่งออกโลกจะกระเตื้องขึ้นเป็นบวก 7.2% ในปี 2564 จากคาดการณ์ที่ -9.2% ในปี 2563 นอกจากนี้ ยังมีโอกาสการเติบโตในระยะปานกลางจากภูมิภาคอาเซียนที่กำลังขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและแนวโน้มการพึ่งพากันภายในภูมิภาคมากขึ้น (Regionalization) โดยการลงนามในRCEP จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในอาเซียน รวมทั้งประเทศไทย