ธปท.งัด3มาตรการแก้บาทแข็ง

ธปท.ออก 3 มาตรการเปิดเสรีให้คนไทยฝากเงินต่างประเทศ ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศ สกัดนำเงินเก็งกำไรตลาดบอนด์ หวังลดแรงกดดันค่าเงินบาท แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างตลาดอัตราแลกเปลี่ยน

เงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในฐานะที่กำกับดูแลการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน ล่าสุดได้ประกาศ 3 มาตรการ เพื่อลดกการแข็งค่าของเงินบาท โดยนางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท.ชี้แจงว่า เพื่อช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทและแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างให้กับตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทย ช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความสมดุลมากขึ้น ธปท. จึงเห็นควรดำเนินมาตรการ ดังนี้
1. เปิดให้คนไทยฝากเงินตราต่างประเทศได้เสรี (Foreign Currency Deposit : FCD) และโอนเงินระหว่างบัญชี FCD ของคนไทยได้เสรี จะช่วยให้ผู้ส่งออกบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศและบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้คล่องตัวมากขึ้น สามารถทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยลดต้นทุนการโอนเงินและชำระเงิน ตลอดจนทำให้คนไทยสามารถกระจายความเสี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินตราต่างประเทศได้สะดวกขึ้น เช่น การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ และการซื้อขายทองคำเป็นสกุลเงินดอลลาร์ สรอ.
2. ปรับกฎเกณฑ์และกระบวนการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ทั้งในมิติของวงเงินและผลิตภัณฑ์ที่ลงทุนได้ เพื่อเพิ่มทางเลือกการลงทุนให้กับคนไทยและสนับสนุนให้มีการกระจายความเสี่ยงการลงทุนได้มากขึ้น
-เพิ่มวงเงินลงทุนให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนโดยตรงได้เป็น 5 ล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี จากเดิม 200,000 ดอลลาร์ สรอ. ต่อปี และไม่จำกัดวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่ลงทุนผ่านตัวกลางในประเทศ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน
-ไม่จำกัดวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศสำหรับนักลงทุนภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
-เปิดให้มีการนำหลักทรัพย์ต่างประเทศมาซื้อขายในไทยได้โดยไม่จำกัดวงเงิน เช่น กองทุนรวมดัชนี (ETF) ที่อ้างอิงหลักทรัพย์ต่างประเทศได้

3. การลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้ (Bond Pre-trade Registration) ผู้ลงทุนในตราสารหนี้ไทยต้องลงทะเบียนแสดงตัวตนก่อนการซื้อขาย ทำให้ ธปท. ระบุตัวตนและติดตามพฤติกรรมของนักลงทุนได้อย่างใกล้ชิด เป็นการยกระดับการติดตามข้อมูลและเอื้อให้ ธปท. สามารถดำเนินนโยบายได้อย่างตรงจุดและทันการณ์ ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับการดำเนินการของหลายประเทศ อาทิ เกาเหลีใต้ มาเลเซีย ไต้หวัน

ซึ่งมาตรการเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการผลักดันให้เกิดระบบนิเวศของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ (FX ecosystem) ที่กระทรวงการคลัง ก.ล.ต. และ ธปท. ผลักดันร่วมกันแบบองค์รวม เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทยอย่างยั่งยืน

“คาดว่ามาตรการ ข้อ 1 และ ข้อ 2 จะมีผลบังคับใช้ภายในสิ้นปีนี้ ส่วนในเรื่องตลาดตราสารหนี้ น่าจะมีผลบังคับใช้ได้ในปีหน้า ซึ่งมาตรการที่ออกในครั้งนี้ถือเป็นมาตรการที่มีผลระยะยาว แต่ตอบโจทย์ในระยะสั้นช่วงที่เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง”