KKP คาด3มาตรการรัฐกระตุ้น GDP ปีนี้เพียง0.17%
KKP Researchประเมินมาตรการที่ออกมาในครั้งนี้กระตุ้น GDP ในปีนี้เพิ่มขึ้น 0.17% ต่ำกว่าที่ สศค. คาดไว้ที่ 0.54% ของ GDP เหตุรายได้ของคนจำนวนมากถูกกระทบอย่างหนักจึงไม่ได้เป็นการกระตุ้นอุปสงค์ใหม่ และส่วนใหญ่เป็นการดึงอุปสงค์ในอนาคตมาใช้
KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร มองว่า บทบาทของภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในภาวะที่เครื่องยนต์หลักทางเศรษฐกิจตัวอื่นดับลงจากสถานการณ์วิกฤตโควิด แต่ความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณโดยเฉพาะงบลงทุนและวงเงินกู้ฉุกเฉินเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจล่าช้าออกไป
ซึ่งมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายรอบใหม่ แม้อาจมีการใช้จ่ายตามมาตรการ และเพิ่มการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบ แต่อาจนับเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้จำกัด เนื่องจากกำลังซื้อของครัวเรือนที่อ่อนแอลงมากจากภาวะการว่างงานและรายได้ที่หายไป และอาจเป็นเพียงการดึงอุปสงค์ในอนาคตมาใช้ หรือเป็นการใช้จ่ายปกติที่น่ามาใช้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
รัฐบาลได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ผ่านการใช้จ่ายของครัวเรือนในรูปแบบต่าง ๆ ในช่วงที่เหลือของปี(ตุลาคม – ธันวาคม) รวม 3 มาตรการ ได้แก่ (1) มาตรการช้อปดีมีคืน หรือมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าซื้อสินค้าหรือบริการ ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศและเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
(2) โครงการคนละครึ่ง มีเป้าหมายเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชนและเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย โดยรัฐบาลจะช่วยออกค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารเครื่องดื่ม และสินค้าค้าทั่วไปให้กับประชาชน 50% แต่ไม่เกินคนละ 150 บาทต่อวัน รวมตลอดระยะเวลาไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน
และ (3) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่ออุดหนุนค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นให้แก่ผู้มีรายได้น้อย เช่น อุปกรณ์การศึกษา วัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม โดยเพิ่มให้คนละ 500 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี จะได้รับเงินเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 300 บาทต่อเดือน เป็น 800บาทต่อเดือน และกลุ่มผู้ที่มีรายได้ 30,000 – 100,000 บาทต่อปี จะได้รับเงินเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 200 บาทต่อเดือน เป็น 700บาทต่อเดือน ทั้งนี้เงื่อนไขสำคัญคือ ผู้ที่สนใจเข้าร่วมในแต่ละโครงการจะสามารถเข้าร่วมได้เพียงโครงการเดียวเท่านั้น
KKP Research ประเมินว่าผลของมาตรการที่ออกมาในครั้งนี้ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจไม่สูงมากนัก โดยคาดว่า การใช้จ่ายผ่านทั้ง 3 มาตรการ จะช่วยกระตุ้นให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มในช่วงที่เหลือของปี ประมาณ 1.07 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)ประเมินไว้ว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้นเกือบ 2 แสนล้านบาท โดย สศค. คาดว่ากำลังซื้อที่จะเกิดขึ้นภายใต้มาตรการกระตุ้นรอบใหม่นี้ ส่วนใหญ่จะมาจากมาตรการ ช้อปดีมีคืนเป็นเงิน 111,000 ล้านบาท จากโครงการคนละครึ่ง 60,000 ล้านบาท และโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติมอีก 21,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 192,000 ล้านบาท
แม้ว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นยอดขายในธุรกิจค้าปลีกและการจับจ่ายใช้สอยในประเทศให้กระเตื้องขึ้นในช่วงเวลาที่กไหนด แต่สินค้าที่ผู้บริโภคนไมาใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีอาจไม่สามารถนับเป็นผลต่อเศรษฐกิจของประเทศได้ทั้งหมด เพราะส่วนหนึ่งจะเป็นการซื้อสินค้าราคาสูงที่ไม่ได้ผลิตในประเทศไทย เช่น การซื้อโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ในภาพรวม KKP Research ประเมินว่าทั้ง 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่นี้จะส่งผลให้ GDP ในปีนี้เพิ่มขึ้น 0.17% ต่ำกว่าที่ สศค. คาดไว้ที่ 0.54% ของ GDP