SCBTแจงปัจจัยการเมืองยังไม่น่าห่วงแต่”ติดตามใกล้ชิด”
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เสนอรัฐบาลกระตุ้นการบริโภคช่วงไตรมาส4 ส่วนสถานการณ์การเมือง”ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด” แจงต่างชาติยังไม่กังวลแต่ห่วงท่องเที่ยวฟื้นมากกว่า พร้อม แนะ3ปัจจัยดันเศรษฐกิจในปี 2564
“เศรษฐกิจไทยอาจจะดีขึ้นจากตอนต้นปี เพราะต้นปีเป็นช่วงที่สถานการณ์โควิดของไทยวิกฤตที่สุด แต่วันนี้เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวแบบไม่มั่นใจ แม้ว่าการส่งออกจะเริ่มฟื้นตัว แต่ความเคลื่อนไหวทางการเมืองภายในประเทศยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด สถานการณ์โควิดในเอเชียดูดีขึ้น แต่สถานการณ์ยังน่ากังวลอยู่ในยุโรป และสหรัฐอเมริกา” ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าว
“เราเพิ่งได้ทีมเศรษฐกิจใหม่หลังจากขาดช่วงไปหลายเดือน การเบิกจ่ายจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งจากรัฐบาลและจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังอยู่ในระดับไม่สูงนัก ตอนนี้ตลาดการเงินอยู่ในภาวะ “ติดตามดูสถานการณ์” ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทิศทางจากกระทรวงการคลัง การเบิกจ่าย การลงทุนของรัฐบาลที่ควรจะนำร่องภาคเอกชนให้มีการลงทุนภายในประเทศ การเมือง การเปิดประเทศ การพัฒนาวัคซีนสำหรับต้านโควิด”
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดสรุป10 ข้อเศรษฐกิจไทย 2563 และปัจจัยเบื้องต้นผลักดันเศรษฐกิจในปี 2564
1. เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดของปีไปแล้ว คาดว่าทั้งปีเศรษฐกิจจะหดตัวร้อยละ 8 อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวน่าจะเป็นไปอย่างช้า จากปัจจัยลบภายในประเทศ และความไม่แน่นอนต่างประเทศ โดยคาดจะฟื้นกลับมาเติบโตที่ร้อยละ 2 ในปี 2564
2. ตัวเลขส่งออกของประเทศเกิดใหม่ และภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศไทย ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้น แต่กลไกขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย คือ การท่องเที่ยว ยังไม่ฟื้น ดังนั้น ถึงแม้ว่าการส่งออกจะดีขึ้น แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมจะยังไม่มั่นคง ถ้าการท่องเที่ยวยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้
3. จับตามองทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งว่าจะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับตลาดการเงินได้มากน้อยเพียงใด หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งใช้เวลากว่าสามเดือนกว่าจะได้ทีมใหม่
4. ความเคลื่อนไหวทางการเมือง ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินต่อไปอย่างไร บนพื้นฐานว่าเศรษฐกิจไทยยังติดลบอยู่ ประเด็นนี้อาจกระทบการฟื้นตัว
5. จากที่มีการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจและรอนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทีมใหม่ ในขณะที่การเมืองยังอยู่ในช่วงติดตามดูสถานการณ์ ส่งผลให้ไม่กระทบต่อค่าเงินบาทมากนัก โดยธนาคารคาดว่าค่าเงินบาทจะอยู่ที่ราว 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในสิ้นปีนี้
6. นักลงทุนต่างชาติอาจไม่ได้มองเพียงภาพในระยะสั้น แต่ยังมองระยะไกลด้วย โดยเฉพาะกับคำถามว่า เมื่อไหร่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน เมื่อไหร่ประเทศจะได้เห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน ซึ่งเป็นระดับในช่วงก่อนโควิด
7. เราเชื่อว่า โควิดทำให้ประเทศไทยเห็นความจำเป็นต่อการปรับกลยุทธ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศ จากเดิมที่มองที่จำนวนนักท่องเที่ยว เริ่มมีแนวคิดเปลี่ยนเป็นการท่องเที่ยวที่เน้นมูลค่า และพยายามลดการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่ง
8. ภาพรวมยังอยู่ในลักษณะ “ติดตามสถานการณ์” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคลัง การเบิกจ่าย สถานการณ์การเมือง การเริ่มเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว การคิดค้นวัคซีนต้านโควิด เพราะฉะนั้น ยังอาจไม่มีปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความมั่นใจได้อย่างมีนัยสำคัญ ตลาดการเงินอาจจะเริ่มมั่นใจได้มากขึ้น หากเริ่มเห็นการเบิกจ่ายของรัฐบาลในทิศทางที่ดีขึ้น การลงทุนของรัฐบาล น่าจะเป็นตัวนำให้ภาคเอกชนลงทุนในประเทศตาม เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ
9. เราเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ก็อยู่ในภาวะ “ติดตามสถานการณ์” เช่นเดียวกัน ถ้าสถานการณ์ยังทรงตัวและเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น ธปท.น่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% แต่ถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงในช่วงในไตรมาสนี้ โอกาสที่ ธปท. จะลดดอกเบี้ยไปที่ 0.25% ก่อนสิ้นปี ก็เป็นไปได้
10. เราเชื่อว่าตลาดการเงินยังให้ความสนใจว่า นอกเหนือจากการลดดอกเบี้ย ธปท.มีนโยบายการเงินทางเลือกอะไร ที่อาจนำมาใช้ในปี 2564 จะเป็น QE หรือ yield curve control หรือ นโยบายช่วยเหลือ SMEs เพิ่ม รูปแบบ ประสิทธิภาพ ความเหมาะสมของนโยบายเหล่านั้นสำหรับเศรษฐกิจไทย ผลลัพธ์คาดการณ์ น่าจะเป็นประเด็นที่ตลาดการเงินและนักลงทุนให้ความสนใจต่อเนื่องไปถึงปีหน้า
ธนาคารสแตนดาร์ดฯยังได้ประเมินอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้อยู่ที่ -8% ชะลอลงจากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ -5% และในปี 2564 คาดการณ์ขยายตัวอยู่ที่ 2% จากเดิมมอง 1.8% ซึ่ง 3 ปัจจัยที่ช่วยขับเศรษฐกิจไทย ได้แก่ 1.การบริโภคภายในประเทศ ซึ่งจะมีสัดส่วนน้ำหนักมากที่สุด 2.การลงทุนภาครัฐ และ 3.การลงทุนภาคเอกชน