KTBประเมินโควิดทำธุรกิจ “ซมไข้ยาวนาน”ถึง26%

ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย ประเมินพิษโควิด-19 ทำรายได้หด เสี่ยงมีธุรกิจ “ซมไข้ยาวนาน” มากถึง 26% ของกิจการทั้งหมดในปี 2565จับตาธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบมาก แนะรัฐออกมาตรการช่วยเหลือแบบเฉพาะเจาะจงป้องกันปัญหา Moral Hazard

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่าปี 2564 จะยังเป็นปีที่ธุรกิจไทยเผชิญความท้าทายแม้สถานการณ์โควิด-19 จะดีขึ้น โดยคาดว่ายอดขายที่หดตัวมากถึง 9.0% ในปี 2563 จะยังต่ำกว่าระดับปกติในปี 2564 เป็นปัจจัยกดดันความสามารถในการชำระหนี้ หลังมาตรการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไปสิ้นสุดลง ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลงบการเงินในระดับรายบริษัทกว่า 2 แสนราย พบว่าอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio: ICR) ซึ่งสะท้อนว่ากิจการมีกำไรจากการดำเนินงานเพียงพอที่จะจ่ายภาระดอกเบี้ยมากน้อยแค่ไหน ในภาพรวมจะลดลงจาก 3.62 เท่า ในปี 2562 มาอยู่ที่ 3.11 เท่า ในปี 2563 และจะใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี ถึงจะกลับไปสู่ระดับเดิม นอกจากนั้น กิจการที่มีกำไรจากการดำเนินงานไม่เพียงพอจ่ายดอกเบี้ย หรือมี ICR ต่ำกว่า 1 เท่า จะมีสัดส่วนมากถึง 28-30% ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า

“สถานการณ์เศรษฐกิจซบเซาที่มีแนวโน้มลากยาว อาจส่งผลให้กิจการ “ซมไข้ยาวนาน” หรือ กิจการที่มี ICR ต่ำกว่า 1 เท่า ติดต่อกันเป็นเวลา 3 รอบปีบัญชี มีจำนวนเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เคยอยู่ที่ 9.5% ของกิจการทั้งหมด ในปี 2562 เป็น 14% ของกิจการทั้งหมดในปี 2563 และจะพุ่งสูงขึ้นเป็น 26% ภายในปี 2565”

นายณัฐพร ศรีทอง นักวิเคราะห์ กล่าวว่าต้องจับตามองธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นพิเศษ หลังพบว่าเป็นธุรกิจที่มีกิจการ “ซมไข้ยาวนาน” ในปี 2563 มากถึง 29% และ 26% ของกิจการทั้งหมด ตามลำดับ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 48% และ 38% ภายในปี 2565 ได้หากไม่มีการช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งนี้ ยังขึ้นอยู่กับแนวโน้มการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและพัฒนาการของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะมีผลต่อธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร และแนวโน้มกำลังซื้อในประเทศ ภาวะการมีงานทำ รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน เพราะจะกระทบต่อธุรกิจอสังหาฯ โดยตรง นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายธุรกิจที่จะมีจำนวนกิจการ “ซมไข้ยาวนาน” สูงกว่าค่าเฉลี่ย เช่น ธุรกิจสื่อและบันเทิง ธุรกิจเครื่องหนัง ธุรกิจเครื่องสำอาง และธุรกิจสิ่งทอ เป็นต้น

ดร.ชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ นักวิเคราะห์ กล่าวสรุปว่าการจัดการกับกิจการ “ซมไข้ยาวนาน” ที่จะเพิ่มมากขึ้นคือโจทย์ท้าทายในระยะข้างหน้า ซึ่งการดำเนินนโยบายต่างๆ จำเป็นต้องมีความเฉพาะเจาะจง โดยคำนึงถึงพื้นฐานทางการเงินของกิจการ และศักยภาพการกลับมาฟื้นตัวของธุรกิจ รวมถึงต้องคำนึงถึงการป้องกันปัญหา Moral Hazard ที่อาจจะตามมาได้ อีกทั้ง ควรให้การสนับสนุนในมิติอื่นๆ นอกเหนือจากเงินทุน ควบคู่ไปด้วย เช่น การยกเครื่องธุรกิจโดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล ควบคู่กับการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวเพื่อแสวงหาโอกาสในตลาดศักยภาพใหม่ๆ ลดต้นทุน และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันที่สอดรับกับบริบท New Normal อย่างยั่งยืน