บลจ.ทิสโก้เปิดโผ 6 กองทุน SSF – RMF
บลจ.ทิสโก้เปิดโผ 6 กองทุน SSF – RMF แนะนำ เน้นลงทุนเชิงรุก กระจายหลายสินทรัพย์ เกาะเมกะเทรนด์โลก
นายสาห์รัช ชัฏสุวรรณ ผู้อำนวยการสายการตลาดและที่ปรึกษาการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มีวัตถุประสงค์ในการลงทุนคล้ายคลึงกันคือเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนระยะยาวในสินทรัพย์ประเภทใดก็ได้ และมีส่วนช่วยในการวางแผนภาษี แต่มีความแตกต่างกันตรงเงื่อนไขในการถือครอง เนื่องจากกองทุน SSF กำหนดให้ถือครองหน่วยลงทุนไป 10 ปีนับจากวันที่ลงทุน ส่วนกองทุน RMF ต้องถือครองหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปีนับจากวันที่ซื้อครั้งแรก และลงทุนต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี และไม่เว้นการซื้อเกิน 1 ปี รวมถึงต้องอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี ณ วันที่ขายคืนหน่วยลงทุน ดังนั้น จึงอาจทำให้นักลงทุนเกิดความลังเลว่าควรลงทุนในกองทุนประเภทใดจึงจะเหมาะกับตนเอง
“แม้กองทุน RMF และ SSF จะมีความคล้ายคลึงกันในแง่ของวัตถุประสงค์ในการลงทุน แต่ก็ยังแตกต่างกันเรื่องเงื่อนไขระยะเวลาการถือครอง จึงมองว่าผู้ที่ใกล้เกษียณน่าจะสนใจกองทุน RMF มากกว่า เนื่องจากถ้าคิดระยะเวลาถือครองให้ครบตามเงื่อนไข จะสั้นกว่าการเลือกลงทุนในกองทุน SSF ที่ต้องถือครอง 10 ปี ขณะที่กลุ่มผู้ลงทุนที่ยังคงมีระยะเวลาการทำงานที่ยาวมากกว่า 10 ปีขึ้นไป อาจมีความสนใจในกองทุน SSF มากกว่า เพราะระยะเวลาถือครองให้ครบตามเงื่อนไข อยู่ที่ 10 ปี ซึ่งสั้นกว่าการลงทุนในกองทุน RMF ที่ต้องถือครองจนเกษียณ แต่สำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนทั้งกองทุน RMF และกองทุน SSF ก็สามารถทำได้” นายสาห์รัชกล่าว
ทั้งนี้ การลงทุน SSF และ RMF เหมาะกับผู้ที่ต้องการลงทุนระยะยาว ซึ่งหากดูตามสถิติแล้วพบว่าการลงทุนระยะยาวในหุ้นจะช่วยลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุน และมีโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนระยะสั้น โดยกลยุทธ์การลงทุนใน RMF และ SSF ในช่วงนี้ แนะนำให้เลือกลงทุนที่เหมาะกับตนเอง เช่น ลงทุนแบบกระจายสินทรัพย์การลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง ลงทุนในหุ้นเมกะเทรนด์ที่มีโอกาสการเติบโตในระยะยาว และลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายเชิงรุกเพื่อเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่ดี
อย่างไรก็ตาม บลจ.ทิสโก้มีกองทุนหลากหลายนโยบายการลงทุนไว้ให้นักลงทุนเลือกไปจัดพอร์ต โดยในปี 2563 บลจ.ทิสโก้มีกองทุนแนะนำทั้งสิ้น 6 กองทุน แบ่งเป็นกองทุน SSF 2 กองทุน และ RMF 4 กองทุน คือ 1. กองทุนเปิด ทิสโก้ เทคโนโลยี อิควิตี้ เพื่อการเลี้ยงชีพ (TTECHRMF) ความเสี่ยงระดับ 7 (เสี่ยงสูง) กองทุนรวมตราสารทุน ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน iShares Expanded Tech Sector ETF ที่ลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ของโลก โดยกองทุนนี้จะเปิดเสนอขายครั้งแรก (IPO) วันที่ 1 -14 ต.ค. 2563 ทั้งนี้ กองทุนนี้ลงทุนกระจุกตัวในหมวดอุตสาหกรรม จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก
2. กองทุนเปิด ทิสโก้ อินคัม พลัส เพื่อการเลี้ยงชีพ (TINRMF) ความเสี่ยงระดับ 5 (เสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง) กองทุนรวมผสม กระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภททั้งในและต่างประเทศ 3. กองทุนเปิด ทิสโก้ Mid/Small Cap อิควิตี้ เพื่อการเลี้ยงชีพ (TMSRMF) ความเสี่ยงระดับ 6 (เสี่ยงสูง) กองทุนรวมตราสารทุน เน้นลงทุนในหุ้นไทยที่มีมูลค่าตลาดไม่เกิน 80,000 ล้านบาท ใน SET และ/หรือ mai ใช้นโยบายการลงทุนแบบเชิงรุก 4. กองทุนเปิด ทิสโก้ โกลบอล เฮลธ์แคร์ เพื่อการเลี้ยงชีพ (TGHRMF) ความเสี่ยงระดับ 7 (เสี่ยงสูง) กองทุนรวมตราสารทุน ลงทุนในหน่วยลงทุนกองทุนรวมและ/หรือ ETF ที่เน้นลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม Healthcare ทั่วโลก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูง และเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ของโลก ทั้งนี้ กองทุนนี้ลงทุนกระจุกตัวในหมวดอุตสาหกรรม จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก
5. กองทุนเปิด ทิสโก้ อินคัม พลัส ชนิดเพื่อการออม (TINC-SSF) ความเสี่ยงระดับ 5 (เสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง) กองทุนรวมผสม กระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลาย อาทิ ตราสารหนี้ไทย หุ้นไทย และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์คุณภาพดี เป็นต้น และ 6. กองทุนเปิด ทิสโก้ หุ้นทุน เพื่อการออม (TEG-SSF) ความเสี่ยงระดับ 6 (เสี่ยงสูง) กองทุนรวมตราสารทุน ลงทุนในหุ้นไทยโดยกระจายการลงทุนในหุ้นพื้นฐานดี ใช้นโยบายการลงทุนแบบเชิงรุก
พิเศษสำหรับลูกค้าบุคคลธรรมดาที่ซื้อ หรือสับเปลี่ยนเข้ากองทุน SSF/RMF ที่ร่วมรายการระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม ถึง 31 มกราคม 2564 ทุกๆ 50,000 บาท รับหน่วยลงทุน กองทุนเปิดทิสโก้ พันธบัตรระยะสั้น (TISCOSTF) 100 บาท สูงสุดไม่เกิน 20,000 บาท (1 ท่านต่อ 1 สิทธิ์)