ITA มอบ ธอส. “ที่ 1 หน่วยงานรัฐ” 4 ปีซ้อน
ธอส. คว้า ITA อันดับ 1 ต่อเนื่อง 4 ปีซ้อน! ด้วยผลประเมินสูงสุด 99.60 คะแนน จากการประกาศผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ประจำปี 2563 ของ ป.ป.ช. ที่ทำหน่วยงานภาครัฐที่กว่า 8 พันแห่ง
นายฉัตรชัย ศิริไล กก.ผจก. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธนาคารฯได้รับการประเมินจาก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามโครงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ประจำปีงบประมาณ 2563 โดยได้รับคะแนนสูงสุดที่ 99.60 คะแนน อยู่ในระดับ AA และถือเป็นคะแนนประเมินที่สูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน จากหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด 8,303 หน่วยงาน
ทั้งนี้ มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนผู้รับบริการหรือติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐ ได้เข้าร่วมประเมินหรือแสดงความคิดเห็นมากถึง 1,301,665 คน ซึ่งคะแนนที่ธนาคารฯได้รับเป็นผลจากการดำเนินงานภายใต้หลักการที่เชื่อว่า “Good Result Come From Good Process” หรือผลลัพธ์ที่ดีเกิดจากกระบวนการที่ดี โดยธนาคารฯยังคงใช้ 6 Key Success Factors ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานที่เป็นระบบมาใช้ในการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง ประกอบไปด้วย
1.Leadership ผู้นำมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน มีการบริหารงานอย่างมีธรรมมาภิบาล เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ 2.Employee Awareness & Engagement สร้างการรับรู้ สร้างขวัญ กำลังใจ ยกย่องเชิดชู เพื่อให้พนักงานเกิดความตระหนักถึงการปฏิบัติงานด้วยความรักและผูกพันต่อองค์กร ทุ่มเท และรับผิดชอบ พร้อมที่จะสร้างผลงานให้องค์กรเจริญก้าวหน้าจนกลายเป็นวัฒธรรมองค์กร
3.Digitized Communication มีการสื่อสารแบบดิจิทัลปรับให้เข้ากับการสื่อสารยุคใหม่ที่รวดเร็ว โดยมีการสื่อสารนโยบายต่างๆ ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของธนาคารทั้งภายในและภายนอกได้รับทราบและปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน เป็นการสื่อสารแบบสองทาง โดยมีทั้งการสื่อสารแบบ offline และ online ที่มีข้อมูลถูกต้องครบถ้วน ชัดเจน และทันกาล 4.Paticipation พนักงานและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มของธนาคารมีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของธนาคาร เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5.Technology พนักงานทั้งองค์กรปรับตัวเองในการนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการทำงานเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว คล่องตัว รวมถึงลดขั้นตอนการทำงาน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในยุค New Normal และ 6.Learning การเรียนรู้จากผลการประเมินในปีที่ผ่านมา โดยนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ทบทวน เพื่อพัฒนา และปรับปรุงกระบวนการทำงาน ให้มีความถูกต้อง สมบูรณ์ ครบถ้วนและทันต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน
อีกทั้ง ธนาคารฯ ยังนำ หลักการ 3 Lines of Defense มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ที่ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติงาน มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อให้การดำเนินงานของธนาคารในทุกมิติมีประสิทธิภาพ บรรลุเป้าหมาย เกิดความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างยั่งยืน (Sustainability)
“ความสำเร็ครั้งนี้ เกิดจากคณะกรรมการธนาคาร ผู้บริหารทุกระดับ ให้ความสำคัญในการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีนโยบายที่ชัดเจน มีการสื่อสารถ่ายทอดนโยบายอย่างทั่วถึงทั่วทั้งองค์กร ทั้งภายในและภายนอก เพื่อให้รับทราบและถือปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกันทั่วทั้งธนาคารฯ สนับสนุนส่งเสริมให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของธนาคารฯ พร้อมนำเทคโนโลยีมาใช้ในการติดตามรายงานผล และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ การมีทีมเวิร์คที่ดี มีกระบวนการทำงานที่ชัดเจนเป็นระบบ การมีส่วนร่วมของทั้งผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานทุกคนทั่วทั้งองค์กร ทำให้เกิดความรักความผูกพันในองค์กร พร้อมสร้างภาพลักษณ์และชื่อเสียงให้กับองค์กร รวมถึงได้รับความร่วมมืออย่างดีจากลูกค้า พันธมิตรทางธุรกิจ คู่ความร่วมมือ ผู้ให้บริการภายนอก สังคมและชุมชน สื่อมวลชน และหน่วยงานกำกับฯ จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร เกิดความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่า ธอส. ดำเนินงานอย่างมีคุณธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ ทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่ทำให้ ธอส. ยังคงรักษาอันดับ 1 เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน เพราะเราเป็น ธอส. หนึ่งเดียว หรือ GHB 1 Team เพื่อร่วมมือกันบรรลุพันธกิจทำให้คนไทยมีบ้านต่อไป” นายฉัตรชัย ระบุ
ทั้งนี้ การประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ 2563 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ทบทวนการประเมิน ITA ในหลายด้าน เพื่อพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยยังคงเป็นการประเมินทางระบบ Online (ITAS) และให้ความสำคัญในการพัฒนาเกณฑ์การประเมินให้เกิดการสนับสนุนต่อการยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้เกณฑ์การประเมินมีเนื้อหาครอบคลุมหลายด้าน เกี่ยวข้องกับคุณธรรม ความโปร่งใส และการทุจริต ทั้งที่มีลักษณะการทุจริตทางตรงและการทุจริตทางอ้อม
รวมไปถึงบริบทแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต โดยจำแนกออกเป็น 10 ตัวชี้วัด ได้แก่ การปฏิบัติหน้าที่ การใช้งบประมาณ การใช้อำนาจ การใช้ทรัพย์สินของราชการ การแก้ไขปัญหาการทุจริต คุณภาพการดำเนินงาน ประสิทธิภาพการสื่อสาร การปรับปรุงระบบการทำงาน การเปิดเผยข้อมูล และการป้องกันการทุจริต ซึ่งธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้เข้าร่วมการประเมินตั้งแต่ปี 2557 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการขับเคลื่อน ยุทธศาสตร์ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระยะที่ 3 (2560-2564) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันการทุจริตและยกระดับคุณธรรมในการดำเนินงานของธนาคารฯให้มีการบริหารงานที่โปร่งใสและเป็นธรรมต่อไป.