สงครามการค้ายืดเยื้อหนุนต่างชาติย้ายฐานการผลิตมาไทย

ภาครัฐ-เอกชนเชื่อต่างชาติยังมองไทยเป็นเป้าหมายที่จะมาลงทุน แนะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การผลิต การเกษตร อสังหาริมทรัพย์ การลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) พลังงานทดแทน และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รุ่งหลังฟื้นตัวจากโควิด

แม้จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 แต่เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว โดยมีโอกาสเติบโตเนื่องจากนักลงทุนต่างชาติมองว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการย้ายฐานการลงทุน ในขณะที่สงครามการค้าสหรัฐ-จีนยังคงยืดเยื้อ โดยอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตได้ดีในช่วงหลังโควิดประกอบไปด้วยภาคท่องเที่ยว การผลิต การเกษตร อสังหาริมทรัพย์ การลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) พลังงานทดแทน และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
“ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถรับมือกับสถานการณ์โควิดและความท้าทายทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี โดยประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จและได้รับความไว้วางใจมากที่สุดในด้านสาธารณสุข ซึ่งสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้ว่าประเทศไทยเป็นเป้าหมายการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวที่เชื่อถือได้เป็นอย่างดี” นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงานสัมมนา ASEAN Business Forum : Thailand – Resilient and Ready for Trade ซึ่งจัดโดยธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)
ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค เพราะอยู่ในตำแหน่งภูมิศาสตร์สำคัญและมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางของการผลิตและการกระจายสินค้าสำหรับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนและประเทศอื่นๆ
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า บีโอไอได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนพิเศษเพิ่มขึ้นจากมาตรการเดิมเพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นเป้าหมายของการย้ายฐานการลงทุนที่น่าสนใจยิ่งขึ้น ประกอบกับผลักดันให้อีอีซีเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน โดยมาตรการต่างๆ มุ่งส่งเสริมธุรกิจที่มีการใช้เทคโนโลยีในระดับสูงขึ้น การใช้นวัตกรรม การใช้ระบบอัตโนมัติ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และการพัฒนาทรัพยากรบุคคล
“บีโอไอยังให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเพิ่มเติมกับธุรกิจทั้งรายเดิมและรายใหม่ ที่ลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตหรือบริการ เช่น การใช้ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีดิจิทัล การวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม รวมไปถึงการใช้พลังงานทดแทนและการประหยัดพลังงาน”
ทั้งนี้อุตสาหกรรมทางการแพทย์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตได้ดี ขณะนี้ตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของประเทศไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของโลก โดยมีนักท่องเที่ยวในกลุ่มนี้เดินทางมายังประเทศไทยราว 3.5 ล้านคนต่อปี นอกจากนี้ประเทศไทยยังกำลังจัดตั้งเขตนวัตกรรมทางการแพทย์ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยพร้อมเปิดต้อนรับการลงทุนที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป

ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการ Economic Intelligence Service สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวเสริมว่าไม่เพียงแต่บริษัทจากประเทศจีนเท่านั้น บริษัทจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้กำลังย้ายฐานการลงทุนมาที่ภูมิภาคนี้ ขณะที่การท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12 ของจีดีพีมีความจำเป็นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะช่วยการฟื้นตัวได้ดีหากประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ ในขณะเดียวกันเราควรพัฒนายกระดับให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น รวมทั้งการใช้ชีวิตแบบ New Normal ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลจะยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง เพราะความคุ้นเคยการค้าการบริการออนไลน์ เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการทำงานจากบ้าน และการให้คำปรึกษาทางการแพทย์จากระยะไกลซึ่งกิจกรรมเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น

มร.มาร์คุส ลอเรนซีนี ประธานและหัวหน้าฝ่ายบริหาร บริษัทซีเมนส์ เอนเนอร์ยี่ จำกัด ประเทศไทย (กัมพูชา ลาว และเมียนมาร์) ย้ำว่า”ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เราให้ความสำคัญที่สุดในภูมิภาคนี้ โดยประเทศไทยได้สร้างมาตรฐานของการมีระบบไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการลงทุน อีกทั้งประเทศยังมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ดีอีกด้วย”
“สำหรับการผลิตไฟฟ้าและงานด้านการส่งกระแสไฟฟ้าที่เกี่ยวข้อง เราเห็นแนวโน้มของความต้องการในอนาคต รวมถึงความจำเป็นของโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานในอนาคตเนื่องจากโอกาสที่จะเกิดขึ้นกับอีอีซี และอุตสาหกรรมการส่งออก รวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัล พลังงานไฟฟ้าทดแทน และการซื้อขายไฟฟ้าข้ามพรมแดน” มร.ลอเรนซีนี กล่าว