COVID-19ฉุดส่งออกไปเมียนมา ปี63 ต่ำกว่า1แสนลบ.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์คุมเข้มพรมแดนเมียนมากระทบค้าชายแดนระยะสั้น แต่ COVID-19 ทำให้การส่งออกชายแดนไทยไปเมียนมาปี 2563 ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท
การที่ทางการเมียนมาออกประกาศจำกัดจำนวนรถขนส่งสินค้าและกำหนดให้ต้องเปลี่ยนมาใช้คนขับรถชาวเมียนมาเท่านั้นเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขนส่งสินค้าข้ามแดนบริเวณด่านแม่สาย จ.เชียงราย ที่เมียนมาอนุญาตให้รถขนส่งสินค้าเข้าประเทศได้วันละ 6 คัน มีผลตั้งแต่ 17 กันยายน 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มาตรการดังกล่าวจะทำให้การส่งออกของไทยชะงักงันในระยะสั้น เนื่องจากทั้งสองฝ่ายต่างต้องพึ่งพาการค้าระหว่างกัน ซึ่งถ้าหากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย มาตรการคุมเข้มระหว่างพรมแดนคงผ่อนปรนลงได้ในระยะอันใกล้ โดยในปัจจุบันมูลค่าการส่งออกของไทยผ่านด่านนี้มีมูลค่า 6,549 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13 ของการส่งออกชายแดนไทยไปเมียนมา
นอกจากนี้เศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากปัญหา COVID-19 ที่มีมาตั้งแต่ต้นปี ทำให้การส่งออกชายแดนไทยไปเมียนมาหดตัวร้อยละ 14.2 (YoY) มีมูลค่าส่งออก 51,400 ล้านบาท โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการส่งออกชายแดนของไทยไปเมียนมาปี 2563 จะเป็นอีกปีที่ยากลำบาก มีความเป็นไปได้ว่าจะหดตัวในระดับเลขสองหลักไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และทำให้มูลค่าส่งออกชายแดนไทยไปเมียนมาลดลงไปแตะระดับต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท เป็นปีที่ 2 และถ้าหากมีความจำเป็นที่ต้องมีมาตรการควบคุมพรมแดนอย่างเข้มงวดในจุดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นด่านแม่สอด จ.ตาก หรือด่านระนอง จ.ระนอง คงยิ่งซ้ำเติมการส่งออกชายแดนไทยไปเมียนมาให้หดตัวมากขึ้นอีก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อว่า ถ้าหากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายขึ้น มาตรการที่คุมเข้มบริเวณพรมแดนที่ด่านแม่สาย จ.เชียงราย น่าจะทยอยผ่อนปรนลง โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการอนุญาตให้เพิ่มจำนวนรถที่ผ่านเข้าเมียนมา ซึ่งรถดังกล่าวก็ต้องผ่านการรับรองจากทางการเมียนมา แต่น่าจะยังต้องเปลี่ยนพนักงานขับรถเป็นชาวเมียนมาเพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาด COVID-19 ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องการเตรียมรับมือกับความล่าช้าในการผ่านแดนที่ต้องพบเจออย่างแน่นอนจนกว่าการแพร่ระบาดจะคลี่คลายดีขึ้น โดยเฉพาะสินค้าส่งออกของไทยหลักๆ ที่อาจประสบปัญหาคำสั่งซื้อลดลงชั่วขณะ
ทั้งนี้ ในปัจจุบันไทยส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคไปยังเมียนมาค่อนข้างมาก แม้ว่าในภาพรวมไทยจะเป็นแหล่งนำเข้าลำดับที่ 3 ของเมียนมา มีส่วนแบ่งตลาดการนำเข้าที่ร้อยละ 13 ของการนำเข้าทั้งหมดของเมียนมา แต่ลักษณะสินค้าของไทยเน้นหนักไปที่สินค้าสำเร็จรูป และสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ต่างจากจีนที่เป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 33 สินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าขั้นกลางในกลุ่มวัตถุดิบสิ่งทอ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และสิงคโปร์ที่เป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 2 มีสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 20 สินค้าเกือบทั้งหมดเป็นสินค้าน้ำมันเป็นหลัก