กคช.บอนด์เพื่อสังคม-เกลี้ยง! / ออมสินชิงธงดันผุดตลาดรองฯ
นักลงทุนสถาบันรายใหญ่ แห่จองซื้อหมด! “บอนด์เพื่อสังคม” ของ กคช. มูลค่า 6.8 พันล้านบาท เล็งปี 64 ผุดอีก หวังนำไปสร้างโปรเจ็กต์ที่อยู่อาศัยต่อเนื่อง ด้านแบงก์ออมสิน ยกรายได้ค่าธรรมเนียม “อันเดอร์ไลท์” ให้ ก.พัฒนาสังคมฯ นำไปใช้เพื่อกิจกรรมสังคม “วิทัย” ตั้งเป้าออกบอนด์ตัวเอง ไม่พึ่งคลังค้ำให้ คาดต้นปีหน้า คลอด “ออมสินบอนด์เพื่อสังคม” ดึงนักลงทุนสถาบันทุกระดับและรายย่อย ร่วมสร้างตลาดรองพันธบัตรในไทย
นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานงานแถลงข่าวการออกพันธบัตรเพื่อสังคม (Social Bond) ของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) มูลค่า 6,800 ล้านบาท และการลงนามในสัญญาการจัดจำหน่าย ระหว่าง กคช.และธนาคารออมสิน โดยมี นายเอด วิบูลย์เจริญ ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) นายณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล ปธ.กก.กคช. นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการ กคช. Mr.Hideaki Iwasaki, Thailand Country Director, Asian Development Bank (ADB) และ นายวิทัย รัตนากร ผอ.ธนาคารออมสิน ร่วมในการแถลงข่าว ณ ห้องประชุมกำแพงเพชร ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ เมื่อช่วงสายวันที่ 21 ก.ย.2563
นายทวีพงษ์ ผู้ว่าการ กคช. ระบุว่า เป็นครั้งแรกที่ กคช.ออกพันธบัตรเพื่อสังคมและครั้งแรกของรัฐวิสาหกิจไทย โดยการออกพันธบัตรฯครั้งนี้ เพื่อ Refinance การลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย และเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและปานกลางได้เข้าถึงที่อยู่อาศัยทั้งประเภท เช่า เช่าซื้อ และซื้อ ที่มีระดับราคาที่รับภาระได้ โดยมีประชาชน 13,569 ครัวเรือน หรือ 54,000 คน ได้รับประโยชน์
ทั้งนี้ แบ่งการออกพันธบัตรเป็น 3 ชุดคือ อายุ 5 ปี วงเงิน 1,000 ล้านบาท อายุ 10 ปี วงเงิน 2,800 ล้านบาท และอายุ 15 ปี วงเงิน 3,000 ล้านบาท กำหนดออกพันธบัตรในวันที่ 23 ก.ย. ซึ่ง กคช.ได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการแบบให้เปล่าจาก ADB ทำให้การออกพันธบัตรเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยปี 2564 กคช. ตั้งเป้าหมายการออกพันธบัตรเพื่อสังคม หรือพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน เพื่อนำเงินที่ได้มาลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง
ด้าน นายวิทัย กล่าวว่า พันธบัตร 3 รุ่น กำหนดอัตราดอกเบี้ย รุ่น 5 ปี 1.02% ต่อปี รุ่น 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 1.64% ต่อปี และรุ่น 15 ปี 1.90% ต่อปี โดยกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ย ทั้งนี้ ได้เปิดให้นักลงทุนแสดงความจำนงแล้วเมื่อวันที่ 15 ก.ย. และเปิดจองซื้อวันที่ 22 ก.ย.
“ธนาคารออมสินมีเป้าหมายจะเป็นธนาคารเพื่อสังคม โดยช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาเราได้ดำเนินการออก 16
โครงการ/ออกผลิตภัณฑ์ ช่วยเหลือผู้เกี่ยวข้องมากกว่า 5 ล้านคน ทั้งนี้ นอกจากทำหน้าที่เป็นผู้จัดจำหน่ายพันธบัตรให้กับหน่วยงานต่างๆ แล้ว เรายังมีเป้าหมายจะออกพันธบัตรเพื่อสังคมของเราเอง ใช้เครดิตของตัวเองค้ำประกัน โดยไม่ต้องให้กระทรวงการคลังค้ำประกัน คาดว่าไตรมาสแรกของปีหน้าจะค่อยๆ ดำเนินการออกพันธบัตร ซึ่งจะดูความต้องการของตลาดและอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม ณ ขณะนั้น” นายวิทัย ย้ำและว่า
การออกพันธบัตรเพื่อสังคมของธนาคารออมสิน มีเป้าหมายที่จะเงินไปใช้ในกิจกรรมเพื่อสังคม รวมถึงกระตุ้นความต้องการของตลาด นอกเหนือจากนักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ โดยพุ่งเป้าไปยังนักลงทุนสถาบันขนาดกลางและเล็ก รวมถึงนักลงทุนรายย่อย ซึ่งเมื่อตลาดมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง มีความหลากหลายทั้งชนิดของผลิตภัณฑ์และอายุของพันธบัตร จะยิ่งเพิ่มความน่าสนใจการลงทุนเพื่อการออม และเมื่อตลาดมีสภาพคล่องมากขึ้น การสร้างตลาดรองสำหรับซื้อขายแลกเปลี่ยนพันธบัตรในอนาคตอันใกล้ก็ยิ่งเกิดขึ้นเร็วขึ้น
ผอ.ธนาคารออมสิน กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา ธนาคารฯได้ออกพันธบัตรและตราสารการเงินอย่างเป็นทางการราว 30,000 ล้านบาท ส่วนแผนการออกพันธบัตรเพื่อสังคมตอนนี้อยู่ระหว่างการวางแผนงาน คาดว่าจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นความหลากหลายของผลิตภัณฑ์มากกว่ามูลค่า เนื่องจากธนาคารฯมีช่องทางในการระดมเงินที่หลากหลายและมีต้นทุนที่ไม่แพงอยู่แล้ว
“รายได้ค่าธรรมเนียมจากการจัดจำหน่ายพันธบัตรเพื่อสังคมของ กคช.ในครั้งนี้ ธนาคารออมสินขอมอบให้กับกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมเพื่อสังคมต่อไป”นายวิทัย ย้ำ
ส่วน นายณัฐพงศ์ ปธ.กก.กคช. กล่าวถึงนโยบายการออกพันธบัตรของ กคช.ในปี 2564 ว่า กคช.มีแผนการระดมทุนในรูปแบบการออกพันธบัตรเพื่อสังคม หรือพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นการจัดหาแหล่งเงินทุนในต้นทุนที่เหมาะสม รองรับการพัฒนาโครงการบ้านเคหะสุขประชา ที่ได้รับนโยบายให้จัดสร้างที่อยู่อาศัย 1 แสนหน่วย ในระยะเวลา 5 ปี (2564 – 2569) โดยจัดสร้างปีละ 20,000 หน่วย และส่งมอบในวันที่ 28 ก.ค.ของทุกปี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ
ทั้งนี้เพื่อให้ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ข้าราชการชั้นผู้น้อย ข้าราชการเกษียณ และประชาชนที่มีรายได้น้อย รวมถึงผู้บุกรุกในพื้นที่สาธารณะได้มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย นอกจากนี้โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ มีแผนการออกแบบและก่อสร้างโครงการให้เป็นไปตามเกณฑ์ ECO-VILLAGE ของ กคช. หรือมาตรฐานการประหยัดพลังงาน เช่น บ้านเบอร์ 5 ที่การเคหะแห่งชาติร่วมดำเนินการกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย.