‘คุ้มภัยโตเกียวมารีน’ลดเป้าเบี้ยรับปีนี้เหลือ 1.7 หมื่นล้าน
“คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย” ลดเป้ารายได้เบี้ยรับปีนี้เหลือ 1.7หมื่นล้านบาท จากเป้าเดิมที่ 2 หมื่นล้านบาท ผลจากการระบาดของโควิค-19 ทำให้ยอดขายรถใหม่ป้ายแดงและปริมาณการส่งออกลดลง
นายฮิโระโนะริ คิริว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คุ้มภัยโตเกียวมารีน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลการดำเนินงานของบริษัทฯ โดยเฉพาะอัตราการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับรวมในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งเป็นผลมาจากยอดการจำหน่ายรถยนต์ป้ายแดงลดลง และ ปริมาณการส่งออกที่ลดลง บริษัทจึงปรับลดเป้าหมายเบี้ยประกันภัยรับรวมปีนี้เหลือ 17,000 ล้านบาท จากต้นปีที่ตั้งเป้า 19,000- 20,000 ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งปีแรก2563 บริษัทมียอดเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 8,950 ล้านบาท
ทั้งนี้บริษัทมั่นใจว่า ปีนี้จะเติบโตได้เป้าหมายใหม่ที่วางไว้ เนื่องจากภายหลังมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ สถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะยอดจองซื้อรถในช่วงครึ่งปีหลังที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น และนโยบายที่รัฐบาลจะออกมาตรการเพื่อกระตุ้นยอดขายรถยนต์ในครึ่งปีหลัง
ขณะเดียวกันบริษัทได้วางกลยุทธ์ขยายตลาดในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ด้วยการเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ประกันภัยตามไลฟ์สไตล์ของลูกค้า โดยเฉพาะทางด้านประกันภัยรถยนต์ สำหรับกลุ่มรถใหม่ จะมุ่งพัฒนาแผนความคุ้มครองเพิ่มเติมจากความคุ้มครองเดิมที่มีอยู่ รวมถึงจะขยายตลาดกลุ่มรถใช้แล้วและรถต่ออายุ เน้นกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ต่างจังหวัดผ่านเครือข่ายสาขามากขึ้น นอกจากนี้จะขยายประกันภัยใหม่ๆ จากพฤติกรรมใหม่ new normal หลังโควิด-19 เช่น การรับประกันภัยไซเบอร์ซีเคียวริตี้จากการซื้อขายออนไลน์เพิ่มขึ้น
ปัจจุบันบริษัท มีส่วนแบ่งตลาดประกันภัยรถยนต์อันดับ 2 และมีเบี้ยประกันภัยรถยนต์สัดส่วนถึง 60% ของพอร์ตรับประกันรวม แบ่งเป็นกลุ่มรถใหม่ 30% และรถใช้แล้ว รถต่ออายุ 70% ขณะที่อัตราความเสียหายประกันภัยรถยนต์ของบริษัทอยู่ที่62-63% ซึ่งเป็นอัตราที่น่าพอใจ
สำหรับความคืบหน้าในการควบรวมกิจการ “ขณะนี้ บมจ.คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย) มีความคืบหน้าหลายด้าน นับตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ ถึงแม้บริษัทฯต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) แต่ถือว่าบริษัทฯ สามารถฝ่าวิกฤติ จากการผสานความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียว ระหว่างทีมจากคุ้มภัยฯและโตเกียวมารีนประกันภัยฯ(เดิม)
ซึ่งทั้ง 2 ทีม ต่างนำจุดแข็งมาหลอมรวมทุกหน่วยธุรกิจขององค์กร ร่วมกันวางแผนกำหนดทิศทางและกลยุทธ์หลายด้าน โดยการผสานความร่วมมือ (Synergy) 4 ด้าน คือ 1. Revenue Synergy ความร่วมมือเพื่อสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายของกลุ่มบริษัทโตเกียวมารีนผ่านเครือข่ายสาขาทั่วประเทศ 2. Capital Synergy ความร่วมมือด้านการบริหารเงินทุนภายใต้โตเกียวมารีนกรุ๊ป ซึ่งได้รับการจัดอันดับด้านเสถียรภาพทางการเงินจากหลายสถาบัน อันจะส่งผลให้การบริหารงานด้านการรับประกันภัยต่อ (Reinsurance) มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 3. Cost Synergy ความร่วมมือด้านการบริหารต้นทุน ให้เกิดศักยภาพสูงสุดในการปฏิบัติงาน โดยใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า รวมไปถึงแผนการรวมสำนักงานไว้ด้วยกัน และ 4. Investment Synergy ความร่วมมือด้านการลงทุน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพอร์ตการลงทุนให้สามารถจัดการความเสี่ยงดีขึ้นและสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
ส่วนแผนดำเนินธุรกิจในไทยระยะ3ปีข้างหน้า ภายใต้วิสัยทัศน์ “Foster a Sustainable Future” ด้วยการมุ่งผสานความร่วมมือของกลุ่มบริษัทโตเกียวมารีนทั้งประกันวินาศภัยและประกันชีวิต ผ่านเครือข่ายสาขาทั่วประเทศ มีความร่วมมือด้านการบริหารเงินทุนภายใต้กลุ่มโตเกียวมารีน ส่งผลให้การบริหารงานด้านการรับประกันภัยต่อมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และยังมีความร่วมมือด้านการบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน รวมไปถึงแผนการรวมสำนักงานได้ด้วยกัน และยังมีความร่วมมือในด้านการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพอร์ตลงทุนให้สามารถจัดความเสี่ยงดีขึ้นและสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น นอกจากนี้ยังผสานจุดแข็งของบริษัทความสัมพันธ์ที่ดีกับพันธมิตรญี่ปุ่นด้วย และการมีเบี้ยประกันภัยที่แข่งขันได้
สำหรับ คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัยฯ มีการดำเนินกลยุทธ์ผ่านช่องทางการขายหลัก ประกอบไปด้วย 1.ช่องทางสาขาที่มีเครือข่ายทั่วประเทศ 2.ฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งจากเครือข่ายบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นในไทยและกลุ่มประเทศแม่น้ำโขง 3.ช่องทางการขายผ่านตัวแทนและโบรกเกอร์ 4.การเป็นพันธมิตรร่วมกับ ดีลเลอร์ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ 5.ช่องทางอื่นๆ อาทิ B2B2C