“กสิกรไทย”คาดกนง.คงดบ.ที่ 0.5%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดผลประชุม กนง. 5 ส.ค. 63 คงดอกเบี้ยที่ 0.5% เพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจ และประสิทธิผลของมาตรการกระตุ้นต่างๆ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในการประชุม กนง. ในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ คณะกรรมการฯ จะพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เพื่อรอดูภาวะเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 2/2563 ที่คาดว่าจะหดตัวลึกสุดในรอบปี ที่จะเผยแพร่ในวันที่ 17 สิงหาคมนี้ ซึ่งหากตัวเลขหดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ก็จะเพิ่มแรงกดดันให้ภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม อีกทั้ง คาดว่า กนง. คงจะรอติดตามประสิทธิผลของมาตรการการเงินและการคลังที่ได้ออกมาก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ ปัจจุบันถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทีมเศรษฐกิจใหม่ของทั้งทางธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง ซึ่งตลาดคาดหวังว่าจะมีการออกมาตรการทางการเงินและการคลังชุดใหม่ที่สอดประสานกันในระยะข้างหน้า ดังนั้น กนง. คงจะไม่พิจารณาเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมที่จะถึงนี้ เพื่อรอดูมาตรการต่างๆ ที่จะออกมาก่อน ทั้งนี้ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ขณะที่ความสามารถในการดำเนินนโยบายทางการเงินและการคลัง (policy space) มีจำกัดมากขึ้น ภาครัฐคงต้องพิจารณาออกนโยบายที่มุ่งเน้นให้มีประสิทธิผลมากที่สุด โดยธนาคารแห่งประเทศไทยคงพยายามดำเนินนโยบายด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพียงแค่ลดดอกเบี้ย แต่มุ่งเน้นนโยบายที่จะมีประสิทธิผลต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนโดยตรง และมีผลกระทบต่อกลไกทางเศรษฐกิจมากที่สุด
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น โดยปัจจุบันมีการระบาดซ้ำในหลายประเทศที่ดูจะรุนแรงกว่าในรอบแรก ขณะที่การพัฒนาวัคซีนยังมีความไม่แน่นอนและคาดว่าจะใช้ระยะเวลายาวนานกว่าจะสามารถผลิตออกมาใช้อย่างกว้างขวางได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวช้าลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไปยังเศรษฐกิจไทยที่มีการพึ่งพาภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวในระดับที่สูง ขณะที่มาตรการเยียวยาของภาครัฐในรอบแรกก็ใกล้จะสิ้นสุดลง
รวมทั้งการว่างงานของไทยยังคงอยู่ในระดับสูงซึ่งจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งกำลังซื้อและเศรษฐกิจในประเทศต่อไป โดยประเด็นดังกล่าวเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ทำให้ภาครัฐอาจจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า สำหรับนโยบายทางการเงิน แม้ว่าจะเป็นที่เข้าใจได้ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายยิ่งเข้าใกล้ศูนย์ ประสิทธิผลของการปรับลดดอกเบี้ยก็จะยิ่งลดลง แต่หากสถานการณ์มีความจำเป็น อาทิ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทรุดตัวอย่างรุนแรงและยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ หรือเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดซ้ำ เป็นต้น การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายก็อาจยังคงมีความเป็นไปได้ในระยะข้างหน้า