“ธุรกิจแพทย์-อาหาร-ออนไลน์”ได้ประโยชน์หลังโควิค
‘ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์’ เผย 3 อุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์ในโลกหลังโควิด-19 ‘การแพทย์-อาหาร-สื่อสารออนไลน์’ ระบุไทยเดินมาถูกทางแล้ว มั่นใจภาคธนาคารแข็งแกร่งรับมือวิกฤต-หนี้เสียได้
ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการ สหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และ อดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวในงานสัมมนา “NEXT IS NOW พลิกวิกฤต ปรับกลยุทธ์ในยุคเศรษฐกิจใหม่” ที่จัดโดยธนาคารกรุงไทย ว่า การแก้ปัญหาของไทยในการรับมือกับการระบาดของโควิค-19 ถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว แต่การชะลอตัวลงของการค้าระหว่างประเทศ จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนตั้งแต่ปี 2562 ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยง โดยปัจจุบันการค้าของไทยติดลบประมาณ 3-4% และตลาดคาดการณ์ว่า สิ้นปี 2563 การค้าของไทยมีความเสี่ยงจะติดลบเลขสองหลัก
สำหรับระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ในเรื่องของปัญหาหนี้เสีย หรือคุณภาพสินทรัพย์ที่มีการเปรียบเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ปัจจุบันต้องยอมรับว่า ธนาคารพาณิชย์ของไทยมีความแข็งแกร่ง มีเงินกองทุนที่เข้มแข็งสูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ ดังนั้น วิกฤตที่เกิดขึ้นคงไม่ทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มจากระดับ 3% ในปัจจุบันสู่ระดับ 30% อย่างในช่วงต้มยำกุ้ง
ส่วนธุรกิจที่สามารถเติบโตได้ดีหลังการระบาดของโควิด-19 ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวกับการแพทย์ เช่น ถุงมือยางธรรมชาติ อุตสาหกรรมอาหาร และธุรกิจออนไลน์(Telecommuting) เนื่องจากความต้องการสื่อสารผ่านออนไลน์ที่ขยายตัวมากขึ้นทั่วโลก
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า การทำธุรกิจในอนาคตหรือ The NEXT Normal ในปี 64 มีประเด็นน่าจับตาใน 5 มิติ (5 Dimensions:5D) ได้แก่ 1. DOWNTURN Economy จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะ Recession พร้อมๆ กัน นับเป็นวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และ 60% ของ CEO กว่า 3,000 บริษัททั่วโลกเห็นว่าเศรษฐกิจโลกคงกลับมาได้ช้าๆ แบบ U Shape และ จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปีกว่าจะกลับมาในจุดเดิม
2. DE-Globalization โลกข้างหน้า หรือ NEXT Normal มีความท้าทายอย่างมาก ซึ่งWorld Economic Forum (WEF) กล่าวว่า โควิด-19 ทำให้จำเป็นต้องทำสิ่งที่เรียกว่า “Great Reset” หรือ “การจัดใหม่” ของระบบทุนนิยม การจัดสรรทรัพยากรให้กระจายได้อย่างเหมาะสมและเท่าเทียมกัน การใช้กลไกรัฐในเชิงรุกเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และ คาดว่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกมาก ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของ Nationalization ที่ Local Economy กลับมามีบทบาทอีกครั้ง
3. DECLUTTERED Government ซึ่งศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินว่าปีนี้เศรษฐกิจจะหดตัว 8.8% ซึ่งรุนแรงใกล้เคียงกับปี 40 ที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง นับว่าเป็นความท้าทายของภาครัฐที่ต้องเข้ามาแก้ปัญหาสาธารณสุข พร้อมกับปัญหาเศรษฐกิจโดยใช้เงินงบประมาณสูงถึง 1 ล้านล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงการปรับตัวในเชิง Digital Transformation
4.Wellness DISTANCING จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ปลุกกระแสรักสุขภาพและสุขอนามัยในทุกวัย และ กลายเป็นปัจจัยพื้นฐาน (prerequisite) ของกิจกรรมอื่นๆ ที่จะตามมา เช่น การท่องเที่ยว ดังนั้น ธุรกิจที่สามารถอิง ไปกับ trend เรื่องสุขภาพจึงมี growth driver มาสนับสนุนอย่างชัดเจน รวมไปถึง trend Remote Hospital, Remote Meditation รวมถึง Health Bot
5.DIGITIZATION โควิด-19 ยังเป็นตัวเร่งปรากฎการ Digital Disruption และ Technology Transformation คราวนี้ Disruption จะเร็วขึ้นกว่าเดิมเป็นทวีคูณในทุกวงการ โดยโลกการเงิน ได้เห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ cashless transaction สะท้อนจาก เม.ย.ที่ผ่านมา จำนวนธุรกรรม Promptpay ต่อวันมีกว่า 10 ล้านรายการ เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปีก่อนหน้า นอกจากนั้น ในต่างประเทศ เช่น จีน เริ่มมีการนำ central bank digital currency มาทดลองใช้จริงกับภาคเอกชน สำหรับในโลกธุรกิจ การมีช่องทาง digital ที่ตรงใจผู้บริโภค และการใช้ Technology อย่างเข้มข้นในการยกระดับประสิทธิภาพ จะเป็นปัจจัยพื้นฐานของความอยู่รอด